ส.ค.ศ.ท.ทำหนังสือเปิดผนึกถึง “หมอธี” เสนอปัญหาผลิตครูและสอบบรรจุครูผู้ช่วย พร้อมข้อเสนอ จี้ยกเลิกหลักสูตรป.บัณฑิต ช่องหารายได้มหา’ลัย
วันนี้ (2 ก.ค.)รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมส.ค.ศ.ท .เมื่อเร็ว ๆนี้ ได้หารือกับกับเกี่ยวกับการผลิตและสอบบรรจุครูผู้ช่วย และเห็นตรงกันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาบางประการที่จะต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงโดยเร่งด่วนจึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพครูได้อย่างแท้จริง และปัญหาเหล่านั้นยากที่หน่วยงานต่างๆจะสามารถทำการแก้ไขปรับปรุงได้เพียงลำพัง จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการความคิดและการทำงานร่วมกัน ส.ค.ศ.ท. จึงมีมติทำหนังสือเปิดผนึกถึงนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลิตครูและการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ดังนี้ ส.ค.ศ.ท.เห็นด้วยการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้เรียนครูมาสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ในสาขาขาดแคลน แต่การกำหนดข้อมูล จำนวนครูสาขาขาดแคลนต้องสอบถามข้อมูลจากส.ค.ศ.ท.ด้วย เนื่องจากเป็นสถาบันผู้ผลิตที่มีข้อมูลจำนวนตัวเลขการผลิตแน่นอน แต่ที่ผ่านมาการกำหนดสาขาขาดแคลนเป็นเพียงข้ออ้างและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมศิลป์ วิศวกรรมไฟฟ้า ช่างโลหะ จัดการงานก่อสร้าง ดนตรี ดนตรีไทย เป็นต้น สาเหตุที่ไม่มีคนไปสมัครสอบ เนื่องจากการเปิดสอบเองโดยจังหวัดหรือเขตพื้นที่ บัณฑิตครูต้องเดินสายไปสอบทั่วทุกที่ในหลายๆจังหวัด เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และเกรงว่าจะมีคนอยู่แล้ว จึงข้อเสนอแนะ ส่วนกลางควรจัดสอบกลางทั้งหมดเพื่อมีบัญชีเดียว และกระจายบรรจุให้กับทุกจังหวัด หรือจัดสอบภาค ก. ก่อนเมื่อทราบผลการสอบภาค ก.แล้วจึงค่อยส่งไปสอบภาค ข และ ค. ที่จังหวัดตนเอง จุดเพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร
รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้หลายสาขาที่กำหนดว่าเป็นสาขาขาดแคลนนั้น ไม่ใช่สาขาวิชาชีพครู ไม่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของครูในโรงเรียน อาทิ สาขาการเงิน บัญชี พัสดุ ธุรกิจการเงิน กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก พยาบาล เป็นต้นอีกทั้งไม่ใช่สาระการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน บุคคลเหล่านี้จึงไม่สามารถทำหน้าที่สอนหรือทำหน้าที่หลักของการเป็นครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ จึงมีข้อเสนอแนะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)อาจอนุญาตให้โรงเรียนรับบุคคลเหล่านี้ เข้ามาทำหน้าที่บุคลากรสายสนับสนุนในตำแหน่งที่โรงเรียนมีความต้องการ จำเป็นได้ แต่ต้องไม่ใช่ตำแหน่งครู และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ นอกจากนี้ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้องต่อวิชาชีพครู ควรยกเลิกหลักสูตรป.บัณฑิตได้แล้ว เพราะได้มีการแก้ปัญหาให้สำเร็จลงได้แล้ว แต่ปัจจุบันยังมีการรับครูที่ไม่มีวุฒิครูเข้ามาเป็นครูในโรงเรียนเรื่อยๆไม่จบสิ้น ทำให้หลักสูตรป.บัณฑิตยังคงมีการเปิดสอนในสถานศึกษา ลุกลามไปคณะวิชาใหม่ๆในสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ถือเป็นการสร้างรายได้หลักให้กับบางมหาวิทยาลัยทำธุรกิจทางการศึกษาโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ
“ส่วนปัญหาการสอบบรรจุผู้ช่วยเกิดจากการขาดความแน่นอน ชัดเจนในเชิงนโยบาย และการบริหารจัดการให้ครูที่มีคุณภาพให้เข้ามาสู่ระบบ มีการใช้ระบบเส้นสาย เอาพรรคพวก เด็กฝากมาเป็นครู รวมทั้งการทุจริตคอรัปชั่นในการสอบบรรจุครู ดังนั้นควรมีการวิเคราะห์ สำรวจอัตรากำลัง ตำแหน่งคุณวุฒิของครูแต่ละโรงเรียน และเกลี่ยอัตรา กำลังให้เหมาะสม จะต้องจัดระบบกลไกในการสอบคัดเลือกครูที่มีคุณภาพเข้ามาตรงกับความต้องการและมีหน่วยงานรับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูล กำหนดความต้องการครูแต่ละปีอย่างชัดเจนโดยกระทรวงศึกษาธิการและต้องกำหนดและควบคุมมาตรฐานและคุณภาพการผลิตครูของสถาบันผลิตครู อย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้หน่วยงานที่ไม่มีหน้าที่ ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการผลิตครูโดยตรงมาผลิตครูอีกต่อไป และไม่ปล่อยให้สถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรเพื่อหวังผลทางธุรกิจการค้าเป็นหลัก รวมถึงต้องไม่ปล่อยให้เปิดทำการสอนมากกว่าแผนการรับและเปิดสอนก่อนที่หลักสูตรจะได้รับการเห็นชอบและรับรอง” รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561 เวลา 16.17 น.