บอร์ด กอปศ.ถก แนวทางการจัดสรรงบประมาณการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้ งบส่วนใหญ่เทไปที่เงินเดือนครูกับเงินวิทยฐานะ ดังนั้นควรมุ่งปฎิรูประบบบงบประมาณการจัดการศึกษาใหม่ทั้งระบบ
วันนี้ (17 เม.ย.) ศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ กรรมอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) ว่า ตนได้นำเสนอรายงานวิจัยเรื่องโครงสร้างและแนวทางการจัดสรรงบประมาณการศึกษาขั้นพื้นฐานจากส่วนกลางไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาให้ที่ประชุม กอปศ.ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา โดยจากการวิจัยเรื่องดังกล่าวพบว่า ภาพรวมงบประมาณการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับงบประมาณในจำนวนที่สูงมาก เฉพาะปี 2561 ได้รับงบประมาณถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งในงบจำนวนเหล่านี้ถูกใช้ไปกับเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่วนที่เหลือจะเป็นงบอุดหนุนรายหัวให้แก่สถาน ศึกษาต่างๆไปดำเนินการในรูปแบบโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าในงบประมาณที่ถูกใช้ไปกับเงินเดือนครูก็เพราะเราต้องการผลักดันให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง แต่ในจำนวนครู 400,000 คน ได้รับค่าวิทยฐานะในกลุ่มชำนาญการพิเศษ คิดเป็น 3 ใน 4 ของครูทั้งหมด ซึ่งสังคมคงคาดหวังว่าเมื่อครูมีค่าตอบแทนที่สูงจะมีแรงจูงใจพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีได้ ดังนั้นงานวิจัยดังกล่าวจะทำให้เรากลับทบทวนดูว่าระบบการจัดสรรงบประมาณในแบบนี้กับสังคมที่คาดหวังว่าคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นจะเป็นทิศทางที่เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ระบบการจัดทำข้อมูลสถานศึกษาที่ได้ทำร่วมกับ สพฐ.เก็บข้อมูลรายรับรายจ่ายของสถานศึกษาพบว่า มีความแตกต่างกันมาก เช่น โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กน้อยกว่า 120 คนมีต้นทุนต่อหัวค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันก็ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังบริหารงานไปได้เช่นกัน เป็นต้น ส่วนบัญชีรายรับรายจ่ายค้นพบว่าโรงเรียนยังมีแหล่งที่มาของทรัพยากรรายได้จากอื่นไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น ผู้ปกครอง และการหารายได้จากสถานศึกษาเอง
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกอปศ.กล่าวว่า ที่ประชุมกอปศ.จะนำการวิจัยดังกล่าวมาปรับใช้ เพื่อนำไปสู่การปฎิรูปการศึกษาในอนาคต โดยเฉพาะการปฎิรูปข้อมูล เพราะเราเห็นว่าข้อมูลต่างๆยังไม่เพียงพอต่อการวางนโยบายด้านการบริหารจัดการ ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลปฎิรูปการจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งประเด็นกฎเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณ เพื่อไปสู่วิธีการปฎิบัติและนำไปสู่การป้อนกลับการใช้งบประมาณที่เหมาะสม รวมถึงการปฎิรูประบบบัญชีของโรงเรียน เพราะโรงเรียนบางแห่งยังไม่มีระบบการทำบัญชีได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้งโรงเรียนก็ไม่ได้รับงบประมาณของแผ่นดินเพียงอย่างเดียวแต่มีรายรับจากช่องทางอื่นด้วย ขณะเดียวกันการมีระบบเงินตำแหน่งวิทยฐานะของครูและผู้บริหารส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการศึกษาทั้งระบบสูงขึ้น ความจริงคุณภาพการศึกษาควรจะดีขึ้นด้วยหรือไม่ ซึ่ง กอปศ.มองว่าเมื่อมีวิทยฐานะควรทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมยังไม่มีคำตอบว่าจะแก้ประเด็นนี้อย่างไร แต่เชื่อว่าจะเป็นข้อสังเกตให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการศึกษาในอนาคตอย่างแน่นอน
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า กอปศ.ได้มอบหมายให้ สกศ.ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในตัวเลขที่เหมาะสมหรือไม่ โดยให้เปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเด็นค่าใช้จ่ายวิยฐานะที่เป็นอยู่มีความเหมาะสม และการมีวิทยฐานะส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการศึกษามากน้อยแค่ไหน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 17 เมษายน 2561