นักวิชาการชี้ ‘มาตรฐานการศึกษาชาติ’ เด็กปฐมวัยควรได้เรียนรู้แบบเตรียมความพร้อม ทั้งสังคม อารมณ์ สติปัญหา ไม่เน้นอ่าน ออก เขียนได้ หวั่นทำความคิดสร้างสรรค์เด็กหาย ‘อดีต รมช.ศธ.’ เสนอตั้งหน่วยงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และดูแลคุณภาพโดยรวม ขณะที่ครูสับสนตัวชี้วัดกำหนดไม่ถึงเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบหวั่นปฏิบัติไม่ถูกทาง
สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลุ่มเด็กและเยาวชน ที่เกี่ยวข้อง ในการร่วม สร้างเสริมสุขภาวะให้กับคนทุกช่วงวัย จัดมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว “กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือผลงานของเรา” ภายในงานจัดให้มีการเสวนาวิชาการ “13 ปี ของมาตรฐานการศึกษาชาติ :เด็กปฐมวัยในวันนั้น = ผู้ใหญ่ในวันนี้” โดยมี ดร.รุ่ง แก้วแดง นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) น.ส.กรณัฐ โรจน์ไพรินทร์ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานศึกษาเอกชน นางสุจิรา อรุณพิพัฒน์ ผู้ปกครอง และนายเสฏฐนันท์ จารุเกษมกิจ นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีครู นักวิชาการด้านการศึกษาปฐมวัยเข้าร่วมกว่า 50 คน ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ดร.รุ่ง กล่าวว่า มาตรฐานการศึกษาชาติ เป็นเรื่องสำคัญและถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรฐานการศึกษา หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผลและการประกันคุณภาพทางการศึกษา สำหรับการศึกษาปฐมวัยเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย และเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้การศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาภาคบังคับ จากที่ผ่านมาไม่ได้กำหนดไว้ เพราะเห็นว่าเด็กวัยนี้ควรอยู่กับพ่อแม่ จึงมีการส่งเสริมการเรียนการสอนรูปแบบโฮมสคูล แต่ก็เกิดปัญหาเพราะระบบราชการไม่ยอมปล่อย และไม่สนับสนุนงบประมาณเท่าที่ควร
ดร.รุ่ง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้จัดการศึกษาปฐมวัยหลายกลุ่ม ตอนนี้เลยไปจนถึงรับเด็กอายุ 2 ขวบเข้าเรียน สาเหตุจากอัตราการเกิดน้อยลง จากเดิมมีเด็กเกิดปีละ 1 ล้านคน เหลือเพียงปีละประมาณ 6 แสนคน ทำให้โรงเรียนอาจต้องปิดตัวลงอีกมาก หลายแห่งจึงพยายามดึงตัวเด็กให้อยู่กับโรงเรียนให้นานที่สุด ซึ่งปัจจุบันไม่มีหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาปฐมวัยโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงเสนอให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาปฐมวัยขึ้น โดยให้เป็นองค์กรมหาชนไม่ใช่หน่วยงานรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการ โดยทำหน้าที่ส่งเสริมและประสานงานการพัฒนาเด็กปฐมวัยของทุกหน่วยงานให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน พัฒนาบุคลากร ครู ผู้บริหาร พี่เลี้ยงเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพ รวมถึงพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ทัดเทียมสากล
“การศึกษาในวัยนี้มีความสำคัญ เด็กแต่ละคนเหมือนเพิ่งออกจากบ้าน จึงอยากให้เน้นว่า การศึกษาสำหรับเด็กวัยนี้ ควรใช้คำว่าเตรียมความพร้อม ทั้งความพร้อมทางสังคม อารมณ์ สติปัญญา เพราะเด็กวัยนี้ในทางการแพทย์ สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ กล้ามเนื้อยังโตไม่เต็มวัย บางคนอาจจะยังไม่สามารถจับดินสอได้มั่นคง ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดปกติ จึงไม่จำเป็นต้องเร่งให้เขาอ่าน ออก เขียนได้ แต่ควรส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ที่สมวัยอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องพยายามอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย”ดร.รุ่ง กล่าว
ด้าน น.ส.กรณัฐ ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนและครูปฐมวัย กล่าวว่า ในมุมมองความเป็นครูปฐมวัยมานานกว่า 20 ปี ทำให้เข้าใจปัญหา ซึ่งครูทุกคนอยู่ภายใต้กรอบหรือเป้าประสงค์ที่กำหนด จากการพูดคุยกับครูหลายคน พบปัญหาความยากลำบากในการถูกประเมิน หรือการปฏิบัติตามตัวชี้วัด และเป้าประสงค์ที่กำหนด โดยครูส่วนใหญ่สามารถจัดกิจกรรมได้ค่อนข้างดี แต่ครูไม่มั่นใจว่า กิจกรรมดังกล่าวตอบสนองต่อเป้าประสงค์ ตามวัยของเด็กหรือไม่ เพราะครูอนุบาลถูกสอนให้จัดกิจกรรมสำหรับเด็ก 3-5 ปี แต่ปัจจุบันมีเด็กที่เข้ามาเรียนอายุต่ำกว่า 3 ปี ทำให้เกิดความสับสนว่า ต้องทำอย่างไร อีกทั้ง ยังมีเสียงสะท้อนจากศิษย์เก่าด้วยว่า ควรให้เด็กได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ ได้รับการศึกษาแบบที่ไม่จำเป็นต้องเร่ง อ่านออก เขียนได้ ทำให้เขาสามารถปรับตัวกับการเรียนในอนาคตได้อย่างดี แม้ช่วงแรกที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อาจจะลำบากเพราะอ่าน เขียนไม่ได้ แต่สิ่งที่เด็กเหล่านี้มีคือ พัฒนาการที่สมวัย ความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ และใช้เวลาเพียง 6 เดือนเด็กเหล่านี้จะไล่ตามคนอื่นทัน
นางสุจิรา ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย กล่าวว่า เด็กทุกคนไม่เหมือนกัน โดยจากประสบการณ์ส่วนตัวอยากให้เน้น สอนโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งไม่ใช่การตามใจเด็ก แต่เป็นการใช้ความเข้าใจว่า วัยอย่างเขาอยากทำอะไร เข้าใจเขาและช่วยส่งเสริม ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ส่วนตัวอยากให้กำลังใจครูทุกคนในการพัฒนาการสอน เพราะครูทุกคนล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะครูที่ดูแลเด็กเล็กซึ่งต้องเหนื่อยมาก
นายเสฏฐนันท์ กล่าวว่า เด็กควรได้รับการจัดการศึกษาที่แตกต่าง เพราะแต่ละคนมีความถนัดที่ไม่เหมือนกัน โรงเรียนในประเทศไทยจะเน้นสอนทฤษฎี เช่น เน้นให้เด็กต้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งทำให้ความคิดสร้างสรรค์ ที่มีในตัวเด็กน้อยลง ทั้งนี้ ตนอยากให้ผู้ปกครองทุกคนพยายามเข้าใจธรรมชาติของเด็ก เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อย่าเอาความคิดของผู้ใหญ่ไปใส่ให้กับเด็ก เพราะจะเป็นการไปฝืนธรรมชาติ ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของเขาหายไป