“หมออุดม” มอบนโยบายสทศ. เน้นข้อสอบและการวัดผลต้องให้เด็กคิดวิเคราะห์ ย้ำข้อสอบ-เฉลยคำตอบต้องไม่ผิด ขณะที่”สัมพันธ์”เล็งประเมินจิตอาสา คุณธรรม จริยธรรม 62 ปี
วันนี้( 27 ธ.ค.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการได้เดินทาง-มามอบนโยบายและรับฟังปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานของ สทศ. โดยมีรศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุพฤกษ์ ผอ.สทศ. กรรมการบริหาร สทศ .และบุคลากร ร่วมรับฟัง ซึ่งศ.นพ.อุดม กล่าวว่า บอร์ดบริหาร และสทศ.มีความสำคัญมากต่อการศึกษา เพราะตนเชื่อว่าการทดสอบและการวัดผลของ สทศ.จะพลังขับเคลื่อนให้ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นไปตามการวัดผล ซึ่งที่ผ่านการประเมินผลจะเน้นการท่องจำจึงทำให้เด็กเน้นท่องจำ จนคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ดังนั้นตนฝากให้สทศ.ช่วยหาวิธีการประเมินผลที่เน้นการวัดสมถรรนะ และการคิดวิเคราะห์ของเด็กให้มากขึ้น เพราะการคิดวิเคราะห์จะเป็นพื้นฐานทำให้เด็กเกิดการคิดสร้างสรรค์ การเป็นผู้นำ สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ และยังสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนดี ไม่ดี อย่างไรก็ตามสทศ.จะต้องไปทบทวนการออกข้อสอบทุกระดับให้เน้นการคิดวิเคราะห์มากขึ้น
“ผมยังย้ำเรื่องของข้อสอบที่สทศ.ต้องออกไม่เกินหลักสูตร เพราะที่ผ่านมามีการกล่าวว่าข้อสอบเกินหลักสูตร จนทำให้เด็กต้องไปกวดวิชา ขณะเดียวกันครูก็กั๊กวิชา เพื่อเอาไปสอนพิเศษ รวมทั้งข้อสอบและเฉลยคำตอบต้องไม่ผิด เพราะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ หากผิดพลาดครั้งเดียวจะไม่มีคนเชื่อถือ หาก สทศ. สามารถออกแบบทดสอบให้มีความเข้มข้น ถูกต้องแม่นยำ และโปร่งใส จะสามารถสะท้อนถึงกระบวนการเรียนการสอนที่จะต้องปรับตัวให้สอดรับได้ และผมเองก็มอบนโยบายในส่วนการเรียนการสอนว่าจะต้องมีการปรับระบบใหม่แล้ว เพราะหากจะยกระดับประเทศ เราจะต้องปรับตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไม่ใช่ปรับเพียงแค่ระดับอุดมศึกษา รวมถึง สทศ. จะต้องพัฒนาไปสู่เรื่องการใช้ดิจิทัลเป็นฐานให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้ทันต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และตอบสนองต่อเด็กรุ่นใหม่” ศ.นพ.อุดม กล่าว
ด้านรศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สทศ.ได้มีการดำเนินการปรับระบบการทดสอบต่าง ๆตามนโยบายที่รมช.ศึกษาธิการต้องการอยู่แล้ว โดยการทดสอบในศตวรรษที่ 21 จะแบ่งออกเป็นส่วน 2ส่วนคือ 1. ส่วนวัดความรู้ในเนื้อหาวิชาต่าง ๆและ2.ส่วนการวัดสมรรถนะความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสาร ทั้งพัฒนาการสอบจากสิ่งที่ทำอยู่คือเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร ก็จะเร่งพัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งอนาคตตนอยากเห็นการประเมินผลจะไม่ให้คะแนนเป็นผ่านหรือตก แต่จะให้คะแนนเป็นระดับ เนื่องจากต้องการให้การทดสอบเป็นการวัดผลเพื่อพัฒนาตัวเอง ส่วนการวัดผลเรื่องคุณธรรมความดีนั้น ก็กำลังสร้างเครื่องมือวัด เพื่อให้การวัดผลรอบด้าน ทั้งความรู้และปัญญา ความดี เช่น เด็กร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดน เรียนไม่เก่งมาก แต่มีวินัยสูง หรือ สามเณร เป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส แต่ก็มีคุณธรรม เป็นต้น คาดว่าจะประเมินในปี 2562
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 27 ธันวาคม 2560 เวลา 17.15 น.