คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ตอบรับกระแสยุคดิจิทัล นำร่องเปิดหลักสูตรนิเทศศาสตร์ สาขาดิจิทัลมัลติมีเดียขึ้นเป็นแห่งแรกของภาคเหนือ ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการสื่อในวัยเรียน พร้อมนำเทคโนโลยีสื่อดิจิทัลมาบูรณาการการเรียนการสอนควบคู่พัฒนาท้องถิ่น เสริมทัพด้วยบุคลากรจากองค์กรวิชาชีพสื่อชั้นนำ ชูทักษะความรู้เทียบเท่ามาตรฐานสากลในค่าเรียนระดับท้องถิ่น
ผศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เปิดเผยว่า “จากการที่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของสื่อดิจิทัล จึงจำเป็นต้องผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ สามารถประยุกต์ใช้สื่อดิจิทัลได้อย่างมืออาชีพ ที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีมาตรฐานตามความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นเพื่อรองรับการเติบโตของสื่อยุคดิจิทัล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จึงเปิดหลักสูตรนิเทศศาสตร์ สาขาดิจิทัลมัลติมีเดียขึ้นในปี 2558 และพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบในปี 2560นับเป็นหลักสูตรแห่งแรกของมหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือที่เปิดหลักสูตรดิจิทัลมัลติมีเดียขึ้น โดยหลักสูตรนี้เน้นสร้างผู้ประกอบการสื่อในยุคดิจิทัล ทั้งในตลาดแรงงานสากลและในระดับท้องถิ่น
คณบดีคณะวจ.กล่าวถึงจุดเน้นของหลักสูตรนี้ว่า เนื่องจากหลักสูตรนี้พัฒนามาด้วยการรวบรวมข้อมูลจากองค์กรสื่อชั้นนำระดับประเทศ ซึ่งเห็นพ้องว่าต้องผลิตนักนิเทศศาสตร์ที่มีทักษะการผลิตเนื้อหาที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคม ดังนั้น หลักสูตรนี้จึงเน้นสอนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งสตูดิโอ คอมพิวเตอร์ แอพลิเคชั่นต่างๆ มีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนให้นักศึกษาใช้ประกอบการผลิตงาน ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากองค์กรสื่อชั้นนำของประเทศในการให้ความรู้นอกห้องเรียนแก่นักศึกษาเพื่อเสริมสร้างทักษะอย่างมืออาชีพ ดังนั้นจึงเป็นหลักสูตรผลิตนักดิจิทัลมัลติมีเดียที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับค่าเทอมแค่ไม่กี่พันบาท แต่นักศึกษาได้ใช้อุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยมาตรฐานสากล เรียกได้ว่าถ้าเทียบกับหลักสูตรที่ใกล้เคียงกันนี้ทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายน่าจะมีราคาถูกที่สุดในคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ต้องพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น
“โดยที่ผ่านมามีการเปิดรับนักศึกษาไปแล้ว 2 รุ่นแต่เริ่มเห็นผลสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ให้เป็นผู้ประกอบการสื่อในวัยเรียน เช่น นักศึกษาทำสติกเกอร์ไลน์ออกจำหน่าย และยังรับจ้างออกแบบสติกเกอร์ไลน์ให้กับหน่วยงานราชการและเอกชนในจังหวัดเชียงราย บางคนสร้างโปรดักชั่นเฮ้าส์ รับผลิตงานโฆษณาในท้องถิ่น เป็นการสร้างรายได้ระหว่างเรียน นอกจากนี้ นักศึกษาบางคนส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการผลิตสารคดีเชิงข่าวโครงการสิงห์สร้างสรรค์ และได้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายจากผู้แข่งขันหลายร้อยรายทั่วประเทศ ซึ่งตอบสนองนโยบายของคณะฯ ที่มุ่งหวังให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการสื่อในยุคดิจิทัลได้ อย่างไรก็ตามด้วยปรัชญาของราชภัฎ คือ มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น ดังนั้นเราจึงผลิตนักศึกษาเพื่อตอบสนองท้องถิ่นเป็นหลัก แม้ความรู้เราจะเทียบเท่ากับระดับศาสตร์สากล แต่เราจะปฏิบัติงานเพื่อท้องถิ่น ดังคำที่ว่า Think Global, Act Local นักศึกษาต้องมีจิตสำนึกที่จะคิดถึงชุมชนบ้านเกิด ไม่มีใครจะพัฒนาบ้านเราได้ดีเท่ากับคนในท้องถิ่นด้วยกันเอง จึงจะเป็นท้องถิ่นที่มีคุณภาพได้”