นักวิชาการชี้การประถมศึกษาสำเร็จด้านปริมาณ แต่ด้อยคุณภาพลงเรื่อย ๆ ส่วนผู้ปกครองอยากเห็นโรงเรียนสอนทักษะชีวติให้ลูกมากกว่าวิชาการ แถมคำพูดครูสามารถสร้างและทำลายเด็กได้
รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี ราชบัณฑิตและกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวในการปาฐกถาศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล ครั้งที่ 2 เรื่อง “การประถมศึกษา: บทเรียนจากอดีต...เพื่ออนาคตที่ดีกว่า “ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็ว ๆนี้ ว่า การจัดการประถมศึกษาจากอดีตจนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จในด้านปริมาณอย่างมาก เช่น เด็กและเยาวชนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาจำนวนมากขึ้น จำนวนโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาก็มีเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณวุฒิสูงขึ้นและจำนวนมากขึ้นด้วย แต่การจัดการประถมศึกษาของไทยยังอ่อนด้อยคุณภาพ เห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้และด้านทักษะทางสติปัญญาและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
"สำหรับแนวทางในการปฏิรูปการประถมศึกษาคือจะต้องเพิ่มโอกาสในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มุ่งพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะกระบวนการที่สำคัญต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการดำรงชีวิตในโลกยุคดิจิทัล ส่วนสถาบันผลิตครูต้องเร่งผลิตครูและพัฒนาครูของครูให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะใหม่ๆ ให้เหมาะสมตามธรรมชาติและพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคดิจิทัล" รศ.ดร.ทิศนา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า อดีตรองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตัวแทนพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กวัยเรียนได้สะท้อนการดูแลบุตรหลานในวัยเรียนภายใต้สังคมยุคดิจิทัลว่าพ่อแม่ผู้ปกครองและครูจำเป็นต้องทำความเข้าใจธรรมชาติและตัวตนของเด็กประถมศึกษา ให้อิสระและให้โอกาสเด็กในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งให้เด็กได้รับผิดชอบผลของการกระทำนั้นด้วยตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้ไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการเรียนของลูกว่าต้องได้รับเนื้อหาสาระทางวิชาการมาก แต่คาดหวังให้ลูกมีทักษะกระบวนการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร เป็นคนดี และเคารพกฏกติกาบ้านเมือง อย่างไรก็ตามหากมัวแต่มุ่งเน้นการเรียนรู้เนื้อหาสาระหนักๆ เน้นการท่องจำ เน้นการทำการบ้านและการสอบมากๆ อาจเป็นการศึกษาที่สูญเปล่าได้ เพราะเด็กเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตจริงได้ อีกทั้งทัศนคติของครูที่มีต่อเด็กก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการมีทัศนคติเชิงบวกกับเด็กในทุกๆ เรื่องจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กในการพัฒนาตนเองได้ และคำพูดของครูก็สามารถสร้างและทำลายเด็กได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16.48 น.