"ประจิน" เผยเตรียมนำร่างแนวแนะวิธีการเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กปฐมวัยตามสมรรถนะให้ ครม.พิจารณาภายในเดือน ส.ค.นี้ คาดประกาศใช้ปี 61 ด้าน กก.ผู้ร่างระบุตัวบ่งชี้ต้องกำหนดละเอียดยิบ พัฒนาการของเด็ก 0-3 ปี มี 286 ตัว และเด็ก 3-5 ปี มี 419 ตัว เหตุกำหนดช่วงอายุเป็นรายเดือน ชี้ไว้เป็นคู่มือครู ผู้ปกครองใช้พัฒนาเด็กให้สมบูรณ์
ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง วิธีการเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กปฐมวัยตาม "สมรรถนะ" ของเด็ก โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) เป็นประธานและกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ในปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปฐมวัย ที่หมายถึงเด็กแรกเกิดจนถึงก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นอกจากนี้ยังมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 วรรค 1 และ 2 ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินงานให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแบบมุ่งผลรูปธรรมชัดเจน อย่างการทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย การกำหนดมาตรฐานในการดูแลเด็กปฐมวัย และทำข้อมูลติดตามตัวเด็กตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ และการประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นการระดมผู้ที่เกี่ยวข้องในการรับผิดชอบเรื่องการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยมาแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ส่วนสำคัญคือเราจะต้องให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ และมีความคิดสร้างสรรค์ เปิดรับการเรียนรู้ได้ตามช่วงวัย
"หลังจากนี้จะมีการนำข้อมูลการรับความคิดเห็นในวันนี้มาปรับปรุงร่างแนวแนะวิธีการเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กปฐมวัยตามสมรรถนะของเด็ก ก่อนที่จะนำเข้าพิจารณาในการประชุม ก.พ.ป. และคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจึงจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2561 นอกจากนี้ เรายังจะดำเนินการยกร่างเกณฑ์สมรรถนะครูในระดับปฐมวัย เพื่อจะวางแนวทางในการพ่มเพาะครูในมีความเข้าใจ และเปลี่ยนแนวความคิด พัฒนาเด็กให้ตรงตามสมรรถนะ" รองนายกฯ กล่าว
ด้านนางทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภายในร่างแนวแนะวิธีการเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กปฐมวัยตามสมรรถนะของเด็ก จะประกอบด้วยความสำคัญ คุณภาพของเด็กปฐมวัยที่ประเทศต้องการ และยังมีสมรรถนะการพัฒนาตามวัยของเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี ซึ่งมีตัวบ่งชี้ของเด็ก 0-3 ปี จำนวน 286 ตัวบ่งชี้ และเด็ก 3-5 ปี มีจำนวน 419 ตัวบ่งชี้ สาเหตุที่มีเยอะ เนื่องจากในร่างฉบับนี้จะกำหนดอย่างละเอียดว่าเด็กในแต่ละช่วงวัยสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น เด็ก 3 เดือน สามารถยกแขน ยกขาขึ้น-ลงเร็วๆ 2 ข้างได้ เป็นต้น และนี่จะเป็นเหมือนคู่มือในการช่วยให้ครูและผู้ปกครองสามารถพัฒนาเด็กได้ตามช่วงวัย สำหรับในกรณีที่เด็กไม่สามารถทำได้ ผู้ปกครองและครูก็จะสามารถหาแนวทางที่จะเป็นตัวกระตุ้นในเด็กมีพัฒนาการตามวัยได้ ซึ่งตัวบ่งชี้ในร่างดังกล่าวมีการทำวิจัยลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลกับเด็กจำนวนมาก รวมถึงศึกษาผ่านตำราที่เกี่ยวข้องกับเด็กและด้านจิตวิทยาเด็กด้วย
ด้านนางสายสุรี จุติกุล รองประธานคนที่ 2 ของ ก.พ.ป. กล่าวว่า การศึกษาของประเทศไทยไม่ได้ทำให้เด็กฉลาด วิธีการเรียนการสอนผิดทางไม่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้หรือเข้าใจในสิ่งที่อยากรู้ตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งบางเรื่องเราสามารถสอนให้เด็กรู้ได้ตั้งแต่วัย 3-5 ปี แต่จะต้องมีวิธีการสอนให้เด็กเข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่การอธิบายเป็นวิชาการ หรือการให้ท่องจำ เพราะการเรียนรู้และสมองของเด็กเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก เราต้องให้คุณค่าและใช้วิธีที่ถูกต้องในการพัฒนา และที่สำคัญคือ การจะเลี้ยงดูเด็กให้ดี ผู้ใหญ่ต้องใจเย็น อย่างไรก็ตาม ตนขอความกรุณาหน่วยงานที่เกี่ยวอย่านำสมรรถนะการพัฒนาไปใช้ในการประเมินเด็กและประเมินครูโดยเด็ดขาด เพราะตนเกรงว่าจะมีการเปิดโรงเรียนกวดวิชาเด็ก 3 ปีให้เป็นไปตามสมรรถนะ แต่ขอให้ใช้สมรรถนะดังกล่าวเป็นแนะแนวเพื่อจะช่วยเด็ก ครู และผู้ปกครอง แบบไม่มีการบังคับใครทั้งนั้น.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 18 สิงหาคม 2560