“หมอธี”ประชุมร่วม ทปอ.มรภ. ยังไม่สรุประบบผลิตครูจะใช้หลักสูตร 4 ปี หรือ 5 ปี นัดถก 4 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร็ว ๆ นี้ มั่นใจได้ข้อสรุปชัดเจน ทันใช้รับนักศึกษาปี 61 แน่นอน
วันนี้(12ก.ค.)นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ศธ.ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการผลิตครูครั้งใหญ่ เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชทานราชหัตถเลขาถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏให้เน้นการผลิตครูที่มีคุณภาพ การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงของการผลิตครูในอนาคต โดยได้มีการหารือถึงหลักสูตรครู 4 ปี และ 5 ปี ซึ่งตนได้ยืนยันไปว่า แนวคิดการปรับหลักสูตรผลิตครูจาก 5 ปีกลับไปเป็นหลักสูตร 4 ปี นั้น ไม่ใช่ความต้องการของตน แต่เป็นเรื่องที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.) เสนอมาให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณา
“ความจริงเรื่องนี้กลุ่มวิชาชีพต้องตัดสินว่า จะผลิตครูระบบไหน ผมไม่มีสิทธิ์ตัดสิน อย่างไรก็ตามถึงแม้การประชุมครั้งนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่า การผลิตครูจะใช้หลักสูตร 4 ปี หรือ 5 ปี แต่ขอยืนยันว่าการผลิตครูจะต้องมีความชัดเจน และทันใช้ในการรับนักศึกษาปีการศึกษา 2561แน่นอน โดยในเร็ว ๆ นี้จะมีการจัดสัมนาร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ทปอ.มรภ. ส.ค.ศ.ท. และคุรุสภา เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้” รมว.ศธ.กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)เกี่ยวกับการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี ว่า มีจุดอ่อนที่เน้นเนื้อหา ไม่ใช่สมรรถนะ ขณะที่นิสิตนักศึกษาต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มอีก 1 ปี แต่จบออกมาแล้วมีคุณลักษณะไม่ต่างคนที่จบหลักสูตร 4 ปี อีกทั้งมีข้อมูลชี้ชัดว่า แต่ละปีมีการผลิตครูถึง 5หมื่นคน มีค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 1 แสนบาทต่อปี ซึ่งการเรียนเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ทั้งเด็กและรัฐต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มกว่า 8 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ความเห็นว่า การผลิตครูขึ้นอยู่กับกระบวนการ โดยยกตัวอย่างโครงการคุรุทายาท ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตครูที่เข้มข้นทำให้ได้ครูที่มีคุณภาพแต่ใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 เวลา 14.13 น.