ชี้คุณภาพไม่แตกต่างแต่เด็กเสียโอกาส บี้สอบ “ตั๋วครู” คุมเข้มมาตรฐาน
รศ. ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศ ไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ส.ค.ศ.ท.ได้หารือเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งเห็นตรงกันว่าคุณภาพการผลิตครูในหลักสูตร 5 ปีนั้นไม่ได้แตกต่างจากการผลิตครู 4 ปี และการเพิ่มเวลาเรียนอีก 1 ปี ทำให้เกิดความสูญเสียทางโอกาสของนิสิตนักศึกษา ดังนั้น ส.ค.ศ.ท.จึงเสนอให้กลับไปผลิตครูในหลักสูตร 4 ปีเหมือนเดิม และเมื่อปรับหลักสูตรเป็น 4 ปีแล้วจะต้องปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตครูให้เข้มข้นขึ้นตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกนักเรียนที่จะมาเรียนครู โดยเน้นพัฒนาด้านมาตรฐานความรู้และประสบการณ์ มาตรฐานการปฏิบัติงาน และมาตรฐานการปฏิบัติตน รวมถึงต้องให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในโรงเรียนตั้งแต่เรียนในชั้นปี 1 จนฝึกงาน เพื่อนิสิตนักศึกษาจะได้ซึมซับความรู้ สั่งสมและบ่มเพาะประสบการณ์การทำงานในโรงเรียนอย่างเต็มที่
ประธาน ส.ค.ศ.ท. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังเสนอแนวทางในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครู ที่จะต้องให้มีการสอบเหมือนกับวิชาชีพอื่นๆด้วย จากที่ปัจจุบันเด็กที่เรียนครูหลักสูตร 5 ปี เมื่อผ่านการฝึกสอนครบกำหนดและจบการศึกษาจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจจะไม่ได้รับการประเมินตรวจสอบคุณสมบัติอย่างแท้จริง ส่งผลต่อคุณภาพการปฏิบัติงานอย่างมากและเสนอให้แยกประเภทของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นในลักษณะความรู้ความสามารถ เช่น ประเภทประถมศึกษา คือการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาตามรายวิชา ประเภทบูรณาการ คือการสอนได้ทุกวิชา ประเภทเชี่ยวชาญเนื้อหา ให้สอนในระดับมัธยมศึกษา และประเภทอาชีวศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตามเร็วๆนี้ ส.ค.ศ.ท.จะสรุปผลการประชุมและข้อเสนอ เพื่อนำไปมอบให้แก่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป.
ขอบคุณที่มาเนื้่อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 5 มิถุนายน 2560