เปิดรายชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย “จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง” ครูโรงเรียนสวนกุหลาบ นนท์ ผู้บุกเบิกการสอนไอซีที และนวัตกรรมหุ่นยนต์ ขณะที่ครูรางวัลคุณากร “นฤมล แก้วสัมฤทธิ์” ครูกศน. บนดอยสูง จ.ตาก และ “ศรัณย์ ศรีมะเริง” ครูนักพัฒนาดนตรีเมืองโคราช ผู้เปลี่ยนชีวิตศิษย์ผ่านนวัตกรรมการสอนวิธีอ่านตัวโน๊ต
เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ในการประชุมวิชาการนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยมีสุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้ง 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนและการจัดการเรียนรู้ให้แก่ครูไทย จำนวน 500 คน โดยมีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดการประชุม พร้อมกันนี้ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัว “ครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ประจำปี 2560”
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีมหาจักรี รางวัลเกียรติยศแห่งความเป็นครูที่จัดขึ้นในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาเด็กและเยาวชนไทย โดยพระราชทานรางวัลแก่สุดยอดครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 ท่าน รวม 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งจะมีการคัดเลือกเป็นประจำทุก 2 ปี ในปี 2560 ถือเป็นการคัดเลือกครั้งที่ 2 โดยครูทั้ง 11 คน จะเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ในส่วนของประเทศไทย ได้มีกระบวนการคัดเลือกจาก 3 ช่องทางจากการเสนอชื่อโดยศิษย์เก่าอายุ 25 ปีขึ้นไป สถานศึกษา หรือสมาคมหรือองค์กรที่มีการคัดเลือกครู เพื่อปลุกพลังคนไทยทั้งชาติร่วมกันเสนอชื่อครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์และสร้างคุณูปการแก่วงการศึกษาไทย
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า สำหรับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ปี 2560 คือ นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ครูผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้วยการจัดการเรียนรู้แนวใหม่บนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อเปิดโลกกว้างแก่นักเรียนให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่นอกตำราเรียน ตั้งแต่ปี 2528 ผู้บุกเบิกให้มีหลักสูตรการสอนไอซีทีในโรงเรียน และนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญของโลกอนาคตมาร่วมจัดการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนพัฒนานวัตกรรมจนชนะการประกวดทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และเป็นครูผู้มีความรักและเมตตาต่อศิษย์ ทุ่มเทเวลาและกำลังทรัพย์ส่วนตัวในการส่งเสริมนักเรียนทำกิจกรรมนอกเวลาราชการอย่างสม่ำเสมอ ตลอด 30 ปี
ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยังได้พิจารณารางวัล “คุณากร” จำนวน 2 รางวัล ซึ่งเป็นครูที่ผ่านการคัดเลือกรองสุดท้ายเชิงลึก คือ นางนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูกศน. ครูเพียงคนเดียวของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านกรูโบ อ.อุ้มผาง จ.ตาก พื้นที่ทุรกันดารบนดอยสูงที่สอนทุกชั้นทุกวิชาและทำหน้าที่เป็นหมอไปพร้อมๆกัน รวมทั้งพัฒนาอาชีพแก่ชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้จากการทอผ้า ธนาคารข้าว เลี้ยงหมู และปลูกผักปลอดสาร และนายศรัณย์ ศรีมะเริง ครูนักพัฒนาดนตรีผู้เปลี่ยนชีวิตศิษย์ผ่านนวัตกรรมการสอนวิธีอ่านตัวโน๊ต นอกจากนี้ยังมีรางวัล “ครูยิ่งคุณ” จำนวน 17 รางวัล ซึ่งผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการส่วนกลาง และรางวัล “ครูขวัญศิษย์” จำนวน 136 รางวัล ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการในระดับจังหวัด ครูเหล่านี้ถือเป็นต้นแบบอันทรงคุณค่าที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์และครูรุ่นใหม่
นายจิรัฎฐ์ กล่าวว่า จุดเปลี่ยนจากการสอนพลศึกษามาสอนด้านไอซีทีมาจากการดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 32 ปีที่แล้ว ซึ่งได้เห็นการใช้ไอซีทีในชีวิตประจำวันแม้กระทั่งชาวนา จึงมองว่าหากนำไอซีทีมาใช้จัดการเรียนการสอนในประเทศไทยจะกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากขึ้น และในอดีตมีคำพูดที่ว่า ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ ถ้าหากเราไม่รู้เทคโนโลยีก็จะตามหลังเขา และเป็นจังหวะที่คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่มาที่โรงเรียนซึ่งไม่มีใครใช้เป็น จึงหันมาพัฒนาความรู้ทางไอซีทีอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดโลกกว้างการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์ ส่วนแรงบันดาลใจของการเป็นครูมาจากการได้รับความช่วยเหลือจากครูอยู่เสมอในสมัยเรียน เพราะตนมาจากครอบครัวที่แตกแยกจึงต้องส่งตัวเองเรียนซึ่งครูส่วนใหญ่เข้าใจปัญหาจึงประทับใจครูเหล่านั้นและคิดว่าสักวันถ้ามีโอกาสเป็นครูจะต้องเข้าใจเด็กให้มาก เพราะเด็กที่มาจากสภาพครอบครัวที่แตกแยกไม่ใช่ปัญหาของสังคมเสมอไป ถ้าหากมีคนเอาใจใส่ ดูแลและดึงศักยภาพของเขาออกมาจะช่วยให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้นได้ จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า ครูที่ดีต้องสอนเด็กทั้งตัวและส่งต่อไปสู่อนาคตที่ดี จึงยินดีทุ่มเทเวลาในการสอนและดูแปลด้านความประพฤติให้เด็กเป็นคนดีของสังคม ซึ่งกลุ่มเด็กเก่งและปานกลางจะส่งเสริมพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการเพื่อเรียนรู้ทักษะที่สูงขึ้นตามศักยภาพและส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยในสาขาที่ถนัด ส่วนกลุ่มอ่อนจะให้การดูแลเป็นพิเศษทั้งการเรียนที่เน้นทักษะปฏิบัติและแนะแนวให้เรียนในทางอาชีพ ที่สำคัญที่สุดและเปลี่ยนชีวิตตนคือ ทุนภูมิพล ซึ่งเป็นทุนที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อผูกมัด แต่เป็นทุนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รับทุนเกิดสำนึกที่จะตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เป็นการใช้หนี้ทุนที่ไม่มีวันสิ้นสุดไปตลอดชีวิตจึงขอเป็นครูที่ดี ขยันเรียนรู้ นำความรู้ใหม่มาพัฒนาส่งเสริมนักเรียนในทุกด้านจนกว่าจะหมดแรง
นางนฤมล กล่าวว่า หากความเหน็ดเหนื่อยของตนเพียง 1 คน สามารถทำให้คนอีก 10 คน 100 คน ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีและรับโอกาสที่ดีก็เป็นสิ่งสมควรทำเพื่อประเทศชาติ เปรียบเสมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเสียสละ ทรงงานหนักเพื่อคนไทยอีก 60 ล้านคน ได้อยู่ดีมีสุข จึงขอปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่บ้านกรูโบ เป็นเวลา 18 ปี โดยไม่เคยขอย้ายไปที่อื่น เพราะคิดเสมอว่า หากไม่มีใครอาสามาเป็นครูที่แห่งนี้แล้ว เยาวชนและประชาชนในชุมชนแห่งนี้คงจะไม่ได้รับโอกาสเรียนรู้ภาษาไทย ทั้งที่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และพยายามปลูกฝังให้ลูกศิษย์รักชุมชนของตนเอง เมื่อเขาเรียนจบเขาจะรักบ้านเกิดไม่ทิ้งถิ่นของตนเอง ส่งผลให้มีนักเรียนหลายคนเกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนครูเพื่อกลับมาทำหน้าที่ครูในชุมชนของตนเองบ้าง
นายศรัณย์ ศรีมะเริง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ผู้ใช้ดนตรีเปลี่ยนชีวิตลูกศิษย์ ด้วยนวัตกรรมปัญจวิธีการสอนดนตรีวงเมโลเดียนและพัฒนาเป็นวงโยธวาทิตว่าหลักในการสอนคือ ทำอย่างไรให้เด็กเรียนจบแล้วต้องเก่งกว่าครู การเป็นครูสอนดนตรีนั้นต้องสอนให้ศิษย์ไปให้ไกลกว่าอาชีพนักดนตรี โดยเริ่มต้นจากการเป็นครูที่ดีให้ได้เสียก่อน จากนั้นได้คิดค้นนวัตกรรมปัญจวิธีโดยการใช้โน้ตดนตรีเปรียบเทียบกับตัวเลขเพื่อสอนเด็กในระดับประถมศึกษาและใช้ตัวการ์ตูนเพื่อสอนเด็กในระดับอนุบาล ทำให้เด็กเข้าใจง่ายและคุ้นเคยกับดนตรีได้เร็ว ซึ่งลูกศิษย์ได้มีโอกาสเผยแพร่การสอนนวัตกรรมปัญจวิธีที่ประเทศภูฎานด้วย
ขอบคุณข่าวจาก ทีมสื่อสารสาธารณะ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)