สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ค้านคำสั่ง คสช.ปฏิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาคของศธ. ชี้โครงสร้างใหม่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา วอนจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดควรฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียด้วย
วันนี้ (6 เม.ย.) ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ส.บ.ม.ท.ได้ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1.คำสั่งดังกล่าวกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ให้มีหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลและการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการจัดการศึกษา การจัดทำแผนการศึกษา แต่องค์ประกอบดังกล่าวไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านการประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ส่งผลให้การบริหารจัดการศึกษาในระดับจังหวัดไม่ได้ดำเนินการภายใต้ข้อมูลที่แท้จริง ขาดหลักการมีส่วนร่วม
ดร.รัชชัยย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่ 2.ให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) มีหน้าที่สั่งการ กำกับ ดูแล เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หรือหน่วยงานและสถานศึกษา ให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อ 12 ให้มีศึกษาธิการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เฉพาะงานที่เกี่ยวกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งส.บ.ม.ท. เห็นว่าคำสั่ง คสช.ข้อนี้เป็นการให้อำนาจหน้าที่ในเรื่องการบริหารงานบุคคลที่เป็นการก้าวล่วงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับบัญชาและสนับสนุนการศึกษาของสถานศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา และเป็นการกำหนดองค์ประกอบที่สร้างภาระและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
นายกส.บ.ม.ท. กล่าวอีกว่า ในส่วนประเด็นที่ 3 ศธ.ได้มีแนวทางให้ผู้อำนวยการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และ ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด มีสิทธิ์สมัครเป็นศึกษาธิการจังหวัดได้ กรณีนี้ ส.บ.ม.ท. ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของศึกษาธิการจังหวัดคือ การบริหารจัดการด้านการศึกษาและบุคลากรในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จึงควรมีผู้นำทางการศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักสูตร ปรัชญาการศึกษา การวัดและประเมินผลของผู้เรียนทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ซึ่งผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เท่านั้น
ดร.รัชชัยย์ กล่าวว่า ส.บ.ม.ท.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและศธ.พิจารณาทบทวนในประเด็นต่างๆ ดังนี้การศึกษาเป็นเรื่องของประชาชน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สำคัญในเรื่องของการศึกษาจะต้องฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องการศึกษา และต้องยกเลิกคำสั่ง คสช. ข้อ 12 ที่ให้ศึกษาธิการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคล ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่เดิมของผู้อำนวย สพป. ผู้อำนวยการ สพม. พร้อมให้ผอ.สพป.และผอ.สพม. มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารการศึกษาและบริหารงานบุคคลของเขตพื้นที่เช่นเดิม ขอให้ยุติการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการศึกษาทั้งระดับชาติ ระดับพื้นที่ไว้ก่อน ทั้งนี้ขอให้มีหน่วยงานระดับกรมเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษาด้านประถมศึกษา และหน่วยงานระดับกรมเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษาด้านการมัธยมศึกษา “
"การนำผอ.กศน.มาทำหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดก็เหมือนนำคนตาบอดมาทำงาน เพราะไม่มีความรู้ด้านประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งพวกเราขอให้ศธ.มุ่งปฎิรูปการเรียนรู้และการสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษา รวมถึงการทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นมากกว่าจะมาแตะเรื่องการปรับโครงสร้าง ทั้งนี้จะยื่นแถลงการณ์ ให้ รมว.ศึกษาธิการ ด้วย หาก ศธ.ยังนิ่งเฉยไม่แก้ไข ทางข้าราชการครูและผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศจะแสดงออกทางสัญลักษณ์อย่างแน่นอนแต่จะอยู่ภายใต้ขอบเขตรัฐธรรมนูญ”นายกส.บ.ม.ท. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2560 เวลา 16.35 น.