เวทีเสวนา“ตั๋วครู : วิกฤตของวิชาชีพครูจริงหรือ”ชี้คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากเป็นครู อัตราแข่งขันสอบเข้าเรียนสูง เผยโครงสร้างเงินเดือนสูงมีส่วนจูงใจ แนะ สพฐ.เปิดโอกาสคนไม่มีตั๋วเป็นครูได้บางสาขา พร้อมเพิ่มทางเลือกให้อาจารย์มหา'ลัยช่วยสอนเด็ก ม.ปลายมากขึ้น ย้ำไม่อยากให้เด็กต้องเสี่ยงเรียนกับครูไม่จบครู
วันนี้(31มี.ค.)ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา (มร.สส.) จัดเสวนา “ตั๋วครู : วิกฤตของวิชาชีพครูจริงหรือ” เพื่อหาทางออกของกระบวนการผลิตครู โดย รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดี มร.สส. กล่าวว่า ขณะนี้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่หลายคนอยากเรียน และอยากเป็น อย่างที่ มร.สส.เด็กสนใจมาเรียนสายครูจำนวนมาก มีอัตราแข่ง 1 ต่อ 26 ส่วนหนึ่งมาจากปรับการเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการ กระทรวงศึกษาธิการมีการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพและ มีโครงสร้างเงินเดือนที่สูงขึ้น
“เชื่อว่าการผลิตครูออกสู่สังคมนั้น เป็นไปด้วยความละเอียดอ่อน ประณีต เป็นเหมือนพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งคนที่จะเข้ามาเป็นครูก็ไม่ใช่มีแค่ความรู้ แต่ต้องรักและ ศรัทธาในวิชาชีพด้วย ขณะเดียวกันวิชาชีพครูอยู่ในการดูแลของคุรุสภาอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในวิชาชีพ แต่น่าแปลกประหลาดที่ รมว.ศึกษาธิการ กลับเปิดกว้างให้ทุกหลักสูตรมาสอบครูได้ แล้วก็ถอยเหลือไม่กี่หลักสูตร แม้ว่าเวลานี้จะกระแสลดลงแต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะผู้มีอำนาจมีวิธีคิดเป็นแบบนี้”รศ.ดร.ฤาเดชกล่าว
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนแนวคิด รมว.ศึกษาธิการ ที่เปิดให้ผู้เรียนในสาขาอื่นมาสอบเป็นครูได้ด้วย ถือว่าเป็นการพลิกวิกฤตการขาดแคลนครู แต่ก็ควรเปิดรับเฉพาะบางสาขา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ หรือ ปรับเพิ่มช่องทางเลือกให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยสอน ระดับ ม.ปลาย ได้มากขึ้น เพราะการสอนในระดับ ม.ปลายต้องการครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
นายกมลเทพ ชังชู ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปราโมชพัฒนา กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนไม่ได้เรียนสายครูมา แต่คิดว่าสอนหนังสือได้อยู่แล้ว เพราะมีความรู้ แต่พอมาสอนหนังสือกลับไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้เด็กได้ แต่คนที่จบสายครูก็มีมุมมองที่แคบ ก้าวไม่ทันเทคโนโลยี เพราะติดความรู้เดิม ขณะที่คนที่จบสายอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ จะมีความรู้รอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ แต่สอนไม่เป็น จึงต้องให้เรียนครูเพิ่ม อย่างไรก็ตามขณะนี้เราต้องมองภาพรวมของประเทศ อย่ามองเพียงว่า จบครูหรือไม่จบครูมาสอนเด็กดีหรือไม่ดี แต่ต้องมองว่า จะไปสอนใครด้วย เพราะเด็กแต่ละระดับต่างกัน และควรมองเรื่องคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการครูแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าว คุณภาพการศึกษาของไทยต่ำทุกสาขาและต่ำทั้งประเทศ ซึ่งสาเหตุของการตกต่ำไม่ใช่เรื่องคุณภาพแต่เป็นเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม ยืนยันว่า ตั๋วครูยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะครูระดับประถมศึกษา เพื่อการันตีว่า ครูเหล่านี้จะสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ ใช้หลักการต่าง ๆ ทั้งวิธีการสอน จิตวิทยาในการสอนเด็กได้ และโจทย์ใหญ่เวลานี้คือ ทำอย่างไรถึงจะได้ครูทดีมีคุณสมบัติครบ 3 ด้าน คือ มีความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม จิตวิญญาณความเป็นครู และมีความสามารถด้านการจัดการรียนรู้ หากระบบการผลิตและการคัดสรรครูไทยในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ก็ต้องแก้ทั้งระบบ
ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ อดีตประธานาภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.) กล่าวว่า ตนไม่ฟันธงว่าการผลิตครูจะเป็น 4 ปีหรือ 5 ปี แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยและเด็กไม่ต้องมาเสี่ยง ควรให้เด็กได้เรียนกับคนที่จบครูมาจะดีกว่า หากผู้ที่จบสาขาอื่นถ้าจะมาเป็นครูได้ต้องผ่านการฝึกฝน วิธีการสอนก่อนที่จะมาเป็นครู เพราะผู้เรียนนั้น มีความแตกต่างกัน วิธีสอนจึงต้องแตกต่างกันด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2560 เวลา 17.23 น.