วันที่ 31 มกราคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 จังหวัดที่มีแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education) มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นตัวประสานให้เกิดการขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกันของภาคีทุกภาคส่วนในจังหวัด รวม 99 องค์กร 2,600 คน ผนึกกำลังเดินหน้าสู่การขับเคลื่อนปีที่ 2 โดยภาคีแกนนำได้รวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลและสังคมไทยให้สนับสนุนแนวคิดการศึกษาเชิงพื้นที่ ภายในงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 มกราคมนี้ นายไพรัช ใหม่ชมภู เลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นตัวแทนภาคีเชียงใหม่ฯ กล่าวถึง 4 ข้อเสนอ ดังนี้
1. เสนอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ 'กศจ.' ที่เป็นกลไกปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ที่รัฐบาลตั้งโดย ม.44 ทำงานเชื่อมโยงกับ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา 99 องค์กร ผ่านแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่/แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการต่อยอดและทำให้เห็นผลในเชิงปฏิบัติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่
2. ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาของพื้นที่ สอดคล้องไปกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 20 ปี ที่กำลังจะประกาศใช้ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการจัดการศึกษา เห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนี้
2.1 สร้างกลไกสนับสนุนการผลิตและพัฒนาครู 'พันธุ์เชียงใหม่' โดยเชื่อมโยงกับ โครงการผลิตครูเพื่อท้องถิ่น และครูโครงการอื่นๆ โดยสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนผู้ปกครอง และภาคธุรกิจ
2.2 ลดความเหลื่อมล้ำในระดับก่อนปฐมวัย โดยพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่มีจำนวน 600 ศูนย์ ครอบคลุมเด็กกว่า 20,000 คน ซึ่งกินความถึงเครือข่ายพ่อแม่ร่วมครึ่งแสนคนในจังหวัดเชียงใหม่ให้มีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน โดยเชื่อมโยงกับการจัดตั้งกองทุนตามรัฐธรรมนูญ
2.3 จัดตั้งโมเดล "โรงเรียนที่เท่าเทียมกัน" โดยเชื่อมโยงกับนโยบายการแก้ปัญหาโรงเรียนไอซียู และมีพื้นที่ตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมในทุกอำเภอ
2.4 จัดตั้ง กองทุนการศึกษาเชียงใหม่ เพื่อทำให้การศึกษาที่อยู่ทั้งในระบบ นอกระบบ การศึกษาทางเลือกและการศึกษาตามอัธยาศัย สอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาตลอดชีวิตของคนเชียงใหม่
3. ขอให้ดำเนินการตามข้อเสนอที่ภาคีเชียงใหม่ฯ ที่มีต่อรัฐบาลในปี 2558 ดังนี้
3.1 จัดตั้งสภาการศึกษาเชียงใหม่
3.2 จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนตามความขาดแคลน
3.3 จัดระบบประเมินครู สถานศึกษา ให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์
3.4 สนับสนุนการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน
3.5 จัดงบประมาณอาหารกลางวันให้นักเรียนเพียงพอในการศึกษาภาคบังคับ
3.6 พัฒนาโรงเรียนดี มีคุณภาพที่อยู่ห่างไกล
3.7 จัดบุคลากรสายสนับสนุนให้สถานศึกษา
4. เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการกระจายอำนาจ และงบประมาณลงในการบริหารจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่
ขอบคุณที่มาจาก ทีมสื่อสารสาธารณะ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)