ผลสำรวจชี้ “นักเรียน” กว่า 63% ถาม “กูเกิล” มากกว่า “ครู” พบค้นคว้าวิชาสังคมมากที่สุด เหตุต้องทำรายงาน - การบ้าน เกือบ 70% รับทำให้โอกาสพบครูอาจารย์นอกเวลาเรียนลดลง ห่วง 13% ลอกข้อมูลในอินเทอร์เน็ตส่งอาจารย์ประจำ เกินครึ่งไม่ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง
ในวันครูแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากข้อคิดให้ครูพัฒนาตนเองร่วมกับลูกศิษย์ มิเช่นนั้น อาจสู้ครูกูเกิลไม่ได้ ล่าสุด สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาต่อการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียน พบว่า มีความสอดคล้องกับข้อคิดของนายกรัฐมนตรี เพราะปัจจุบันเด็กไทยนิยมค้นคว้าหาข้อมูลการเรียนจากอินเทอร์เน็ตมากกว่าถามครู
ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าว ได้สำรวจพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาในเขต กทม. และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 11 - 15 มกราคม 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,147 คน พบว่า วิชาที่กลุ่มตัวอย่างใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้มากที่สุด 5 อันดับได้แก่ สังคมศึกษาร้อยละ 81.34 คณิตศาสตร์ร้อยละ 79.16 ภาษาไทยร้อยละ 76.81 ภาษาอังกฤษร้อยละ 75.15 และเทคโนโลยี ร้อยละ 72.89 นอกจากนี้ ยังระบุว่าตนเองใช้ระบบอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับการเรียนในกรณีที่ต้องทำการบ้าน/รายงานตามที่ครูอาจารย์สั่งบ่อยที่สุด ร้อยละ 38.36 รองลงมาเพื่อเตรียมสอบต่างๆ ร้อยละ 22.23 ขณะที่การค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เรียนอยู่ที่ร้อยละ 13.86 ค้นคว้าหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจอยู่ที่ร้อยละ 11.6 ใช้กรณีขาดเรียนร้อยละ 7.67 และกรณีครูสอนไม่ทันร้อยละ 6.28
ผลสำรวจยังพบอีกว่า ร้อยละ 63.12 ค้นคว้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่าผ่านเอกสารในรูปของกระดาษ เช่น หนังสือ วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น มีเพียงร้อยละ 15.43 ระบุว่า ค้นคว้าผ่านเอกสารกระดาษมากกว่า ขณะที่ร้อยละ 21.45 ระบุว่า ใช้ทั้งสองช่องทางเท่าๆ กัน ส่วนกรณีที่ไม่เข้าใจ มีข้อสงสัย ต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาบทเรียนในชั้นเรียน พบว่า สองในสามหรือร้อยละ 64.34 ระบุว่านิยมค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองมากกว่าถามครูอาจารย์ มีเพียงร้อยละ 21.19 ระบุว่านิยมสอบถามจากครูอาจารย์ผู้สอนมากกว่า และร้อยละ 14.47 ระบุว่าใช้ทั้งสองวิธีพอๆ กัน
เมื่อถามถึงการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าการเรียนและกิจกรรมอื่นๆ ในรอบ 1 วัน พบว่า มากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 58.33 ใช้เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าค้นคว้าการเรียน ร้อยละ 17.52 ใช้อินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลสาระความรู้มากกว่า และร้อยละ 24.15 ระบุว่า ใช้เวลาทำทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน ที่น่าสนใจคือ มากกว่าสองในสามหรือร้อยละ 69.92 ยอมรับว่า การค้นคว้าความรู้ข้อมูลการเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทำให้มีโอกาสติดต่อพบปะกับครูอาจารย์นอกเวลาเรียนน้อยลง และร้อยละ 13.78 ยอมรับว่า เคยคัดลอกข้อมูลประเภท เรียงความ บทความ บทกลอน รายงาน ของผู้อื่นมาใส่เป็นรายงาน/การบ้านของตนเองแล้วนำส่งครูอาจารย์เป็นประจำ ขณะที่ร้อยละ 54.23 ยอมรับว่าไม่เคยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลสาระความรู้ที่ค้นคว้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก่อนที่จะนำมาบรรจุลงในการบ้าน/รายงานเลย
ขอบคุณที่มาจาก MGR Online วันที่ 17 มกราคม 2560