เรียน5ปี-ฝึกงานปี5เทอม1-อาจารย์ผู้สอนต้องมีประสบการณ์จริง-มหา'ลัยเพิ่มเครือข่ายรร.
เลขาฯ กกอ.เผย 4 กรอบมาตรฐานผลิตครู เรียน 5 ปี ฝึกงานปี 5 เทอม 1 ปรับคุณสมบัติผู้สอน ให้มหา'ลัยวางเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่เพิ่ม เร่งทำประชาพิจารณ์ มอบ ทปอ.มรภ. ส.ค.ศ.ท. ปรับปรุงหลักสูตร ก่อนหารืออีกรอบมกรา.นี้ หวังประกาศใช้ปีการศึกษา 60
นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เกี่ยวกับกรอบแนวคิดมาตรฐานการผลิตครู ซึ่งได้ข้อสรุปใน 4 ประเด็น คือ
1.ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า หลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ยังคงใช้ระยะเวลาต้องเรียน 5 ปี แต่จะมีการเพิ่มวิชาเอกคู่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาเมื่อนำไปใช้ในการสมัครวิชาชีพครู เช่น จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทยและจิตวิทยาแนะแนว เป็นต้น
2.ต้องให้นักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการสอนหลักแบบทำงานจริงในชั้นปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 เพื่อในภาคเรียนที่ 2 นักศึกษาจะได้กลับมาเล่าประสบการณ์ อุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน และทางมหาวิทยาลัยจะได้เสริมในสิ่งที่ขาด รวมถึงนำเรื่องเหล่านี้ไปปรับในกระบวนการเรียนการสอน ทั้งนี้ ในส่วนของการปฏิบัติการสอนระหว่างที่เรียนอยู่คือ ชั้นปีที่ 1-4 ยังคงต้องหารืออีกครั้งว่าควรจะมีหรือไม่
3.คุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จริง
4.มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะต้องวางเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
"จากนี้ต้องมีการนำข้อสรุปดังกล่าวทำประชาพิจารณ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้-ส่วนเสียได้แสดงความเห็น และทาง ทปอ.มรภ.และ ส.ค.ศ.ท.จะต้องนำข้อสรุปที่ได้ไปปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งผมจะเชิญหารือร่วมกันอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม 2560 และเคาะบทสรุปสุดท้ายภายในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผมจะพยายามให้หลักสูตรใหม่นี้ทันใช้ในปีการศึกษา 2560" เลขาฯ กกอ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 12 ธันวาคม 2559