ครูเรฟและเคล็ดไม่ลับสู่การเป็นนักเขียนน้อยของเด็กๆ
เพราะไม่อยากให้เด็กๆหลงไปกับวัฒนธรรมติดแชทจนทักษะการเขียนดิ่งเหว ครูเรฟจึงจัดเคล็ดลับสู่การเป็นนักเขียนสำหรับพวกเขาดังนี้
1. เริ่มต้นจากไวยากรณ์ ผ่านการทำแบบฝึกหัดที่ครูเรฟพยายามจะสอนทุกครั้งที่มีเวลาว่าง โดยครูเรฟจะเน้นให้เด็กๆทำงานให้เสร็จในห้องเรียน เพื่อพวกเขาจะได้มีเพื่อนและครูไว้คอยปรึกษาหากมีข้อสงสัย เขาจะไม่ทำโทษหรือประจานหากใครทำผิด แต่เขาจะเรียกมันว่า “การแก้งานสุดสยอง” คือแทนที่จะให้คะแนนต่ำๆ ครูเรฟก็เลือกที่จะให้เด็กๆแก้งานใหม่รอบแล้วรอบเล่าจนกว่าจะถูกต้องเพื่อให้เด็กๆใช้ไวยากรณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว
2. เรียงความประจำสัปดาห์ และรายงานการอ่านหนังสือรายเดือน
ทั้งสองขั้นตอนนี้จะสอนให้เด็กๆรู้จักคุณค่าของการบริหารเวลาและพัฒนางานเขียนของเด็กๆไปด้วยในขณะเดียวกัน โดยครูเรฟจะมอบหมายหัวข้อเรียงความประจำสัปดาห์ในวันศุกร์ ให้เด็กๆเขียนมาสั้นๆประมาณ 1 หน้ากระดาษ และให้เวลาถึง 2 สัปดาห์ เพื่อให้เด็กๆได้ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงในวันหยุดให้เป็นประโยชน์นอกเหนือไปจากการเล่นกีฬา หรือพักผ่อนเล่นสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียว
สำหรับรายงานการอ่านหนังสือรายเดือนแม้ฟังดูไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับครูและพ่อแม่ และการเลือกหนังสือให้ถูกใจเด็กก็เป็นเรื่องท้าทายไม่ใช่เล่นเลย แต่เพื่อเลกกับการที่เด็กๆจะเติบโตขึ้นมาเป็นนักอ่าน นักเขียน และนักคิดที่มีวิจารณญาณ ก็นับเป็นความคุ้มค่าที่มากพอแล้ว
3. นักเขียนปกอ่อน : โครงการนักเขียนน้อย
นักเรียนแต่ละคนจะมีเวลาถึงหนึ่งปีเต็มในการเขียนหนังสือ 1 เล่ม ซึ่งครูเรฟจะให้เด็กๆทำในเวลาเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นฝีมือพวกเขาจริงๆ โดยเขาจะพูดคุยกับเด็กๆ ว่าแต่ละคนเขียนเกี่ยวกับอะไร ช่วยเด็กๆแก้คำที่สะกดผิด หรือไวยากรณ์ที่ไม่ถูกต้อง เรียกได้ว่าตรวจต้นฉบับตั้งแต่ต้นมือกันเลยทีเดียว
นอกจากจะได้ฝึกปรือฝีมือการเขียนแล้ว เด็กๆก็ยังได้เลือกภาพประกอบ ออกแบบหนังสือ เข้าเล่มโดยใช้กระดาษแข็งทำปก และเทปกาว แม้ดูเป็นงานจุกจิกแต่ก็ได้ทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอนจนเสร็จสิ้น เป็นผลงานให้พวกเขาได้เก็บไว้ภูมิใจ
#หมายเหตุ ข้อมูลจากหนังสือ ครูแท้แพ้ไม่เป็น : เทคนิคและกำลังใจเพื่อครูมือใหม่ถึงครูวัยเก๋า โดยผู้แต่ง Rafe Esquith