"ดาว์พงษ์" ยกทีมผู้บริหาร ศธ.ลงพื้นที่อุดรธานี ตรวจโรงเรียนแม่เหล็กในโครงการดีโรงเรียนดีใกล้บ้าน เผยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ลุยควบรวมนักเรียนต่ำกว่า 120 คนภายใน 5 ปี
วันนี้ ( 10 พ.ย.)ที่โรงเรียนชุมชนสามพร้าวจังหวัดอุดรธานี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน หรือ โรงเรียนแม่เหล็ก โดยพล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า ศธ.มีนโยบายแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่ามี 15,537 โรงเรียน ซึ่งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลนำการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มาใช้แก้ไขปัญหาโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ครูไม่ครบชั้น ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสด้วยว่า ทีวีไม่สามารถสอนคนให้เป็นคนดีได้ การจะสอนให้คนเป็นคนดีต้องใช้คนสอน คือ ครูและพ่อแม่ ซึ่งการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ศธ.มองเรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็ก และถ้าหากมีผู้ปกครองคัดค้านเพียงคนเดียวก็จะไม่ยุบ ซึ่งต้องขอบคุณฝ่ายปกครองท้องถิ่น ที่ช่วยทำความเข้าใจเพราะในอดีตการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก มีการเมืองท้องถิ่นเข้ามาแทรก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้
“ศธ.ตั้งเป้าหมายว่าภายในระยะเวลา 5 ปีจะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้ได้ทั้งหมด โดยปี 2559 นี้เริ่มจากโรงเรียนขนาดเล็กที่นักเรียนต่ำกว่า 20 คน จำนวน 827 แห่งซึ่งสพฐ.ได้คัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมจำนวน 300 กว่าแห่งเป็นโรงเรียนแม่เหล็ก และโอนย้ายครู นักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงมาเรียนร่วม ซึ่งโรงเรียนชุมชนสามพร้าว ก็เป็นหนึ่งในโรงเรียนแม่เหล็ก ที่นำนักเรียน จำนวน 57 คน และครู 11 คนจากโรงเรียนบ้านนาหยาด และโรงเรียนบ้านแมดมาไว้รวมกัน ซึ่งจากการสอบถามนักเรียนโรงเรียนบ้านนาหยาดบางคน พบว่าในห้องเรียนมีเด็กแค่ 2 คน แต่เมื่อย้ายมาเรียนรวมทำให้มีเพื่อนเพิ่มขึ้นเป็น 34 คน ซึ่งจะทำให้เด็กมีรู้จักการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม ทำให้มีทักษะสามารถดำรงชีวิตในอนาคตได้ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าคะแนนการเรียน และในปีต่อไปก็จะทยอยควบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนต่อกว่า 40 คน 60 คน 80 คนและ 120 คนจนเหลือโรงเรียนที่มีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งจะถูกยุบ บางแห่งก็สามารถแปรสภาพเป็นโรงเรียนแม่เหล็กได้ หรือเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดารไม่สามารถควบรวมได้”พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวและว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ดังนั้น จะเร่งสรุปรายงานเสนอต่อไป
ด้าน นายชยาวุธ จันทรธร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จ.อุดรธานีให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับใช้งบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีความเจริญโดยละเลยพัฒนาคนซึ่งเป็นทุนที่สำคัญ ดังนั้น จึงกำหนดให้การพัฒนาคนเป็น 1 ใน 9ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาของจ.อุดรธานีมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของประเทศ ยกเว้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุดรธานี เขต 2 ที่สูงกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 50 โดยทางจังหวัดได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้บริหารการศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา ในการขับเคลื่อนอุดรธานีนิวส์เจเนอเรชั่นส์ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)โดยทำการทดลองใน 8 โรงเรียน ได้แก่ สพป.อุดรธานี เขต 1 จำนวน 4 โรง สพป.อุดรธานี เขต 2 และ 3 เขตละ 1 โรง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 20 (อุดรธานี) 2 โรง โดยมีการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และภาษาอังกฤษ
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2559