ส.ค.ศ.ท.ชง 14 ข้อเสนอปฎิรูปการผลิตและพัฒนาครู จี้ปรับ มคอ.1 สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ชี้ล้าหลังมีปัญหามาก แนะห้ามหน่วยงานอื่นเปิดหลักสูตรการผลิตครู เผยเตรียมนำข้อเสนอเข้าพบ"ดาว์พงษ์" วันที่ 25 พ.ย.นี้
วันนี้ (7 พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ส.ค.ศ.ท.วาระพิเศษ ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับปรุงแก้ไขระบบการผลิตและพัฒนาครู ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยมีแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงให้ครูมีคุณภาพ 14 เรื่อง ดังนี้
1.แก้ไขมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพที่เกี่ยวกับการผลิตครูในสถาบันผลิตครูโดยตรง
2.แก้ไขมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ.1) สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เนื่องจากขณะนี้มีความล้าหลังและมีปัญหาอย่างมาก โดยการปรับปรุงต้องเปิดให้ ส.ค.ศ.ท.เข้าไปมีส่วนร่วมและรับฟังข้อเสนอแนะจาก ส.ค.ศ.ท.ด้วย
3.พัฒนาหลักสูตรการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ของทุกสถาบันให้มีคุณภาพทันสมัย รองรับการเข้าสู่สากลและปรับปรุงการบริหารจัดการการเรียนการสอนและฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู โดยต้องมีการตรวจสอบประเมินหลักสูตรต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองไปแล้วอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
ประธาน ส.ค.ศ.ท. กล่าวต่อไปว่า
4.พัฒนาหลักสูตรครูอาชีวศึกษา ให้ทันสมัยรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศ
5.พัฒนาระบบการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาวิชาชีพครู เพื่อให้ได้ผู้ที่สนใจ ตั้งใจจริงมาเรียนครู รวมถึงส่งเสริมให้ผู้มีความรู้ ความสามารถวิชาชีพอื่น มาประกอบวิชาชีพครู และควรมีการฝึกอบรมครูให้เข้มแข็ง และครูควรจะได้รับการศึกษาต่อระดับปริญญาโท
6.ยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ของทุกสถาบันที่ไม่มีมาตรฐานและไม่มีเกณฑ์สอบเข้าหรือไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
7.ยกเลิกหรือห้ามไม่ให้เปิดหลักสูตรการผลิตครูทุกระดับของหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่มีหน้าที่ในการผลิตครูโดยตรง เนื่องจากไม่มีทรัพยากร นักศึกษาที่เข้าเรียนไม่มีแรงจูงใจมาเป็นครู ขาดกระบวนการบ่มเพาะความเป็นครู
8.ห้ามมิให้มหาวิทยาลัยที่ไม่มีการเปิดสอนหลักสูตรทางการศึกษา หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งระดับปริญญาตรีเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา ป.บัณฑิต ปริญญาโท และปริญญาเอก เนื่องจากไม่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตครู
9.ให้มีการประเมินผลการดำเนินการของสถาบันการผลิตครู หากไม่มีคุณภาพควรกำหนดมาตรการปรับปรุงแก้ไข หรือ ยกเลิกจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ ควรให้มีการพัฒนารูปแบบและเครื่องมือการประเมินสถาบันการผลิตอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน เช่น สถาบันผลิตครูจะต้องมีโรงเรียนสาธิตของสถาบัน หรือ มีโรงเรียนฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่สามารถเข้าไปบริหารจัดการด้านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูได้
10.ควรมีการประเมินสมรรถนะ ความรู้ ทักษะคุณลักษณะครูอาจารย์ที่สอนในสถาบันผลิตครูทุกแห่ง
11.ให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาอาจารย์สถาบันผลิตครู โดยเน้นให้มีความรู้และคุณธรรมความเป็นครู มีความสามารถในการสอนและการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
12.สถาบันการผลิตครูที่ผ่านการประเมินคุณภาพระดับดี จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการฝึกอบรมพัฒนามากกว่าหน่วยงานอื่น เพราะมีทรัพยากร องค์ความรู้ทันสมัย ไม่ควรให้งบประมาณการผลิตและพัฒนาครูไปให้หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้เกิดความสูญเปล่าและไม่ได้รับการพัฒนาแท้จริง
13.ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องสัมพันธ์กับการเรียนในโรงเรียน นอกจากการสอบต้องแนบแฟ้มสะสมงาน เพื่อแสดงความรู้ความสามารถ และต้องมีการสอบวัดแววความเป็นครู และ
14.การปฏิรูปจะเกิดผล ควรสนับสนุนให้มีการศึกษาเป็นระบบ เช่น การวิจัยผลิตและพัฒนาครู การสร้างนวัตกรรมอย่างหลากหลายสนองต่อการเป็นประเทศไทย 4.0
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว ส.ค.ศ.ท.จะนำเสนอต่อรมว.ศึกษาธิการ ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ และจะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับมาปรับปรุงในร่างยุทธศาสตร์การปฏิรูปการผลิตครูและการพัฒนาครู ระยะสั้น 5 ปี (2560-1565) เพื่อเป็นแนวทางและกรอบในการผลิตครูและพัฒนาครูต่อไป.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2559