พัฒนาครู-นร.ลดท่องจำคิดวิเคราะห์เป็นใน2ปี/เรียน-สอนสะเต็มทุกรร.ใน5ปี
สพฐ.ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน 11 นโยบายการศึกษา พุ่งเป้าพัฒนาครูใน 5 ปี นักเรียนลดท่องจำ ฝึกคิดวิเคราะห์เป็นภายใน 2 ปี สอนระบบสะเต็มครบทุกโรงเรียนใน 5 ปี รวมทั้งโอเน็ตจะต้องสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้ภายในปี 60
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้กำชับให้ผู้บริหารดำเนินการตามนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างเคร่งครัด 11 เรื่อง ได้แก่
1.การทำให้ครูใช้ศักยภาพในการสอนอย่างเต็มที่ภายใน 5 ปี
2.ปรับระบบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ให้เป็นที่ยอมรับและสะท้อนถึงคุณภาพการจัดการศึกษาภายในปี 2560
3.ทำให้เด็กเรียนท่องจำให้น้อยลง ฝึกคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ครบทุกโรงเรียนภายใน 2 ปี
4.จะทำให้มีการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาครบทุกโรงเรียนภายใน 5 ปี
5.ยกระดับภาษาอังกฤษให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ภายใน 3 ปี
6.ทำให้ครูครบตามเกณฑ์ภายใน 1 ปี พร้อมทำให้ครูประจำชั้นทุกห้องเรียนภายใน 2 ปี และทำให้ครูตรงสาขาภายใน 5-10 ปี
7.การผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ
8.ให้เด็กทุกคนได้เข้าเรียนและได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน
9.ผลิตคนดีสู่สังคม
10.ซ่อมบ้านพักครูให้เสร็จสิ้นภายในปี 2560 และ
11.แก้ปัญหาความทุจริตและประพฤติมิชอบ
นายการุณกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้น 11 คณะ เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ตามนโยบายของปี 2559 และจะนำไปสู่การสานต่อในปี 2560 อย่างเต็มที่ เพราะทุกนโยบายถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการทำให้ครูครบตามเกณฑ์ ครูประจำชั้นครบทุกห้องเรียน ได้มีการปรับเกณฑ์การคิดอัตราให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ และการทำให้โรงเรียนได้ครูตรงสาขานั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้จัดทำมาตรฐานวิชาเอกของโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และการศึกษาพิเศษ โดยการจัดทำมาตรฐานวิชาเอกเหล่านี้จะใช้เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลของแต่ละโรงเรียน ว่าแต่ละโรงเรียนมีครูตรงกับสาขาจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งการจัดทำมาตรฐานดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงปัญหาการขาดแคลนครูใน 2 มิติ คือ โรงเรียนที่ขาดแคลนจำนวนครู เช่น เกณฑ์กำหนดว่าควรมีครู 10 คน แต่โรงเรียนมีครูแค่ 8 คน เป็นต้น และโรงเรียนที่ขาดแคลนครูที่สอนตรงตามวิชาเอก เช่น โรงเรียนมีครูภาษาไทย 10 คน แต่เกณฑ์กำหนดว่าควรมี 5 คน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรฐานดังกล่าวได้นำร่องใช้กับโรงเรียนในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 จำนวน 37 โรง และคาดว่าจะทราบผลสำรวจภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2559