เร็ว ๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และธนาคารโลก จัดเสวนาเดินหน้าการศึกษาไทยอย่างไรให้ตอบโจทย์ "Thailand Economy 4.0" จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์การศึกษารุ่นใหม่
"ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์" นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ไทยมีกำลังแรงงานในช่วงอายุ 15-65 ปี ราว 37 ล้านคน แต่ขาดแคลนแรงงานฝีมือซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในมุมผู้ประกอบการ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยถดถอยลงตั้งแต่ปี 2550 ค่าจ้างของแรงงานทุกกลุ่มลดลงรุนแรง และมีแนวโน้มซบเซามากกว่า 10 ปีแล้ว (ก่อนเริ่มนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท) สวนทางกับตัวเลขการศึกษาของแรงงานไทยที่ดีขึ้นถ้านับตามจำนวนปีการศึกษา
"ประเทศไทยมีปริมาณบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก แต่กลับขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ ทำให้เสี่ยงต้องยอมทำงานรับค่าจ้างต่ำกว่าวุฒิ และออกไปอยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ ขณะที่แรงงานระดับล่างกว่า 1 ล้านคนว่างงานเป็นประจำอย่างน้อย 6 เดือนทุกปี เพราะขาดทักษะที่นายจ้างต้องการเช่นกัน"
จากผลทดสอบนานาชาติ PISA นักเรียนไทยจำนวนมากยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในอาชีพ หรือการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดย 1 ใน 3 ของนักเรียนไทยที่อายุ 15 ปี รู้หนังสือไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้ และยังมีช่องว่างทักษะขั้นพื้นฐานอย่างการอ่านของเด็กไทยเปรียบเทียบระหว่างชนบทและในเมือง ต่างกันมากถึง 3 ปีการศึกษา และหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม พบว่าความสามารถของนักเรียนเวียดนามแซงหน้าเด็กไทยถึง 1.5 ปีการศึกษา
"ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว" คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่ Economy 4.0 ด้วย Education 2.0 ซึ่งไม่สามารถช่วยให้ผู้ที่เรียนจบปรับตัวให้เข้ากับโลกของการทำงานได้ เกิดปัญหาช่องว่างทางทักษะที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเศรษฐกิจปรับตัวแต่แรงงานไทยปรับตัวไม่ทัน
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ได้ร่วมกับ สสค. วิจัยประเด็นช่องว่างทักษะเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ใน จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต ตราด และอีก 14 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า ช่องว่างทักษะสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาเทียบเท่ากับ Economy 2.0 และกำลังพัฒนาไปสู่ Economy 3.0 คือ 1)ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ 2)ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และ 3)การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
ส่วนจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาเทียบเท่ากับ Economy 3.0 และกำลังก้าวไปสู่ Economy 4.0 พบว่า มีช่องว่างทักษะเพิ่มขึ้นทุกประเด็น ถ้าไม่นับปัญหาภาษาต่างประเทศ ช่องว่างทักษะสูงสุด 3 อันดับแรก
คือ 1)ความรู้เฉพาะตามตำแหน่งงานที่ทำ 2)การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงาน และ 3)ความสามารถในการเรียนรู้งาน
"ซึ่งระบบการศึกษาที่จะตอบโจทย์นี้ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน จัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่และกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนต้องมีวิธีการประเมินผลการเรียนแตกต่างจากปัจจุบันที่เน้นการสอบเพียงอย่างเดียว"
ขณะที่ "ดร.ไกรยส ภัทราวาท" ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค.ชี้ว่า สถานการณ์เลิกจ้างและตัวเลขบัณฑิตตกงานจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในอีก 5 ปี
ถัดจากนี้ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานที่ใช้ทักษะการทำซ้ำเป็นประจำ (Routine Skill) จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย
ในปี 2563 นั้น 1 ใน 3 ของทักษะที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบันจะล้าสมัย ซึ่ง 65% ของงานใน 10 ปีข้างหน้ายังไม่เกิดขึ้น แล้วระบบการศึกษาจะสอนเด็กอย่างไร
"เป็นความท้าทายว่าไทยสามารถสร้าง The New S-Curve ใหม่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ได้หรือไม่ The New S-Curve ใหม่ของไทยคืออะไร และจะส่งผลให้กำลังแรงงานไทยรุ่นใหม่สามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในเร็ววันนี้หรือไม่ ระบบการศึกษาไทยจึงจำเป็นปรับตัว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ควรร่วมมือกันปฏิรูปให้เกิดการเรียนรู้ทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการในปัจจุบันและในอนาคต"
ขอบคุณที่มาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ประชาชาติธุรกิจ 19 ก.ค. 2559 เวลา 10:00:00 น.