พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสรุปดังนี้
การพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ที่ประชุมได้หารือถึงการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ ปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะ และการคงรักษาไว้ซึ่งเงินวิทยฐานะ โดยขอให้ยึดหลักการว่าหากจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใดๆ จำเป็นจะต้องถามผู้รับการประเมินก่อนด้วย แต่ย้ำว่าไม่มีการยกเลิกเงินวิทยฐานะแต่อย่างใด เพราะเจตนารมณ์การปรับปรุงหลักเกณฑ์คือ เพื่อปกป้องครูไม่ให้สังคมโจมตีได้ว่าครูรับเงินวิทยฐานะไปแล้ว ละทิ้งห้องเรียน หรือคุณภาพผู้เรียนลดลง แต่การได้รับวิทยฐานะที่สูงขึ้น ย่อมมีผลโดยตรงต่อคุณภาพผู้เรียน โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะมีระบบการประเมินและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพให้มากขึ้น คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2560
เห็นชอบแก้ไขหลักเกณฑ์ฯ นำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย สพฐ. : โดยให้ กศจ. กำหนดเองได้ตามความเหมาะสม
สืบเนื่องจากการที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.6/ว3 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 นั้น แต่ที่ผ่านมาพบปัญหา เช่น กศจ. บางแห่งมีผู้ยื่นความประสงค์มาขึ้นบัญชีของ กศจ.เพียงคนเดียว หรือในจังหวัดนั้นมีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก เหลืออยู่เพียงบัญชีเดียว หากจะดำเนินการประเมินเพื่อจัดลำดับที่ในการขึ้นบัญชีของ กศจ. โดยการสอบข้อเขียนแบบปรนัยและสัมภาษณ์ อาจทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณและเป็นการเพิ่มภาระงานให้ กศจ.
นอกจากนี้ จากการประชุมสัมมนาการบริหารงานบุคคลของ กศจ. ใน 4 ภูมิภาค ได้มีข้อเสนอให้ กศจ. เป็นผู้กำหนดวิธีการประเมินเพื่อจัดเรียงลำดับที่เอง โดยไม่ต้องยึดว่าต้องสอบเฉพาะข้อเขียนแบบปรนัยและการสัมภาษณ์เท่านั้น หรือ กศจ.ใดที่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันเหลืออยู่เพียงบัญชีเดียว ให้ กศจ.นั้น นำรายชื่อผู้สอบแข่งขันมาประกาศเป็นบัญชีของ กศจ.ได้เลย โดยไม่ต้องประเมินเพื่อจัดเรียงลำดับที่ใหม่
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรแก้ไขหลักเกณฑ์ ว3/2559 ดังกล่าว โดยให้ ยกเลิกการกำหนดวิธีการสอบข้อเขียนแบบปรนัยและการสอบสัมภาษณ์ (ตามข้อ 2 ค. และข้อ 4-8) มาเป็น ให้ดำเนินการประเมินตามวิธีการที่ กศจ.กำหนดได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเสมอภาค ทั้งนี้ อายุการขึ้นบัญชีให้ใช้อายุบัญชีเท่าเดิม
เห็นชอบแก้ไขหลักเกณฑ์ฯ การสอบครูผู้ช่วย สพฐ.
ที่ประชุมเห็นชอบให้แก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ตามหนังสือ ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 14 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 (หลักเกณฑ์ ว14/2558) เพื่อใช้สำหรับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ครั้งที่ 1/2559 เพื่อให้สถานศึกษามีอัตรากำลังข้าราชการการครูเพียงพอต่อความต้องการ และทันกำหนดการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โดยให้มีการกระจายอำนาจให้ กศจ. ในฐานะผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน บริหารจัดการในเรื่องการออกข้อสอบตามหลักสูตรที่กำหนดท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการตาม ว14/2558 นี้
ทั้งนี้ อาจมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แล้วแต่กรณี ตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการสอบแข่งขันได้ตามความจำเป็น และความเหมาะสม ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. จะโอนงบประมาณในการสอบแข่งขันไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 ซึ่งทำหน้าที่เป็นศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการสอบแข่งขันและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของ คสช. ที่ 11/2559
อนึ่ง ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งต่อมาได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 10/2559 ให้ยุบเลิก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาฯ และให้โอนอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาฯ ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของ กศจ. จังหวัดนั้นๆ
เห็นชอบการจัดสรรคืนอัตราว่างของข้าราชการครูฯ จากผลการเกษียณอายุราชการ
จากการที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 ได้เห็นชอบการจัดสรรคืนอัตราว่างของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากผลการเกษียณอายุราชการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2557 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12,884 อัตรา เป็นตำแหน่งครูผู้ช่วย 10,424 อัตรา นั้น
เนื่องจากมีการแก้ไขวันเดือนปีเกิดที่ผิดพลาดของข้าราชการครูจำนวน 2 ราย จากสังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 1 และ สพม. เขต 14 (พังงา-ภูเก็ต-ระนอง) ทำให้ สพฐ.ต้องนำเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีมติอนุมัติจัดสรรอัตราว่างตำแหน่งครูผู้ช่วยจำนวน 2 อัตราดังกล่าว และให้ สพฐ.ดำเนินการเกลี่ยอัตรากำลังที่ได้รับอนุมัติ โดยให้จัดสรรในสถานศึกษาที่มีจำนวนอัตรากำลังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด และเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ค.ป.ร.กำหนดโดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบ ก.พ.7 ของข้าราชการให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการบริหารงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
การเลือกตั้งผู้แทนองค์กรกลางบริหารงานบุคคล เป็นกรรมการสวัสดิการข้าราชการ
ที่ประชุม ก.ค.ศ. เห็นชอบเสนอชื่อ นายสงกรานต์ จันทร์น้อย ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดย ก.ค.ศ. ในครั้งนี้ ให้เป็นผู้แทน ก.ค.ศ.ในคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการ ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดสวัสดิการข้าราชการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2547 โดยมีเลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานกรรมการ
การตั้งอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมเห็นชอบตั้ง นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 8 เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ตามการเปลี่ยนพื้นที่รับผิดชอบ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร,
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ก.ค.ศ.
สรุป / รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
4/7/2559
ที่มา เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 4 กรกฎาคม 2559