พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับศึกษาธิการภาค เรื่อง "ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค" เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2559 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อให้ศึกษาธิการภาคทั้ง 18 ภาค ได้รายงานการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาระดับภูมิภาคช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งก็ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมาก ทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การขับเคลื่อนงานตามนโยบาย และการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด โดยในช่วงแรกของการดำเนินงานเข้าใจดีว่าเป็นช่วงของการปรับตัว และจะต้องทำความเข้าใจในบทบาทของแต่ละฝ่าย แต่หลังจากที่ทุกคนเข้าใจบทบาทของตนเองและมีการหารือร่วมกันแล้ว เชื่อว่าจะช่วยทำให้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายและแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้างานทั้งหมด เป็นผลมาจากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ประกอบกับความมุ่งมั่นตั้งใจของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ร่วมดำเนินการและให้ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาระดับจังหวัดเป็นอย่างดี จึงทำให้การขับเคลื่อนค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในการนำเสนอครั้งนี้ มีแผนงาน กิจกรรม โครงการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญและโดดเด่น อาทิ
- การแต่งตั้งคณะทำงาน พร้อมทั้งมีการกำหนดกรอบปฏิทินการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด ให้แล้วเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559
- การทบทวนและปรับปรุงแผนการจัดการศึกษา โดยเฉพาะแผนแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 เขต ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด เพื่อให้การจัดการศึกษาในระดับจังหวัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- การดำเนินกิจกรรมและโครงการตามศักยภาพและบริบทของจังหวัด เช่น ทะเลแห่งการเรียนรู้-สมุทรสงคราม, งานวันสับปะรด-ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
- การดำเนินกิจกรรมและโครงการตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เช่น โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้, การแก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคัน, การเพิ่มอันดับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน, การจัดทำแผนการรับนักเรียนปีการศึกษา 2560, การวิจัยศักยภาพความพร้อมของจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษา เป็นต้น
- การบูรณาการแผนงานระหว่างหน่วยงานในระดับจังหวัด เช่น โครงการพัฒนาภาษาอังกฤษ, โครงการป้องกันอัคคีภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติ, โครงการโรงเรียนอ่อนหวาน เพื่อรักษาสุขอนามัยของนักเรียนภายในและบริเวณโดยรอบสถานศึกษา, โครงการเรียนใกล้บ้านด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก, โครงการติดตามการศึกษาต่อของนักเรียนชั้น ม.1 และ ปวช. เป็นรายบุคคล เพื่อลดปัญหาเด็กออกกลางคัน, การสำรวจโรงเรียนประจำแบบพักนอน เพื่อปรับปรุงให้มีสภาพที่เหมาะสมมากขึ้น
ทั้งนี้ ได้ฝากให้ศึกษาธิการภาค จัดทำ SWOT การศึกษาในระดับจังหวัดและแผนงานในแต่ละนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหาจุดอ่อน-จุดแข็ง-ภัยคุกคาม-โอกาส ที่จะเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขจุดอ่อนหรือเสริมสร้างจุดแข็ง เช่น โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก การแก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคัน ฯลฯ โดยขอให้นำมารายงานในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อจะได้ขับเคลื่อนงานให้มีความก้าวหน้ารวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีฐานข้อมูลกำลังคนของกระทรวง เพื่อใช้ในการดำเนินงานของแต่ละจังหวัด ซึ่งได้มอบสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นผู้จัดทำกรอบแนวทางการจัดเก็บข้อมูลภาพรวมในระหว่างรอการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางที่ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อจะให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งระบบตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ 10/6/2559