เล็งงัดม.44แก้ปัญหามหา'ลัย
"ดาว์พงษ์" เล็งใช้ ม.44 แก้ปัญหาธรรมาภิบาลมหา'ลัย และผลักดัน พ.ร.บ.อุดมศึกษา ย้ำทำไปโดยไม่เจาะจงว่าแก้ปัญหาสถาบันไหน แต่หวังใช้ในภาพรวม ไม่อยากให้ปัญหาซุกใต้พรมอีกต่อไป พร้อมมอบการบ้าน มรภ.ตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดเพื่อกำหนดกรอบเวลาในการผลิตและทดลองหลักสูตรใหม่ เพื่อให้ใช้ภายในสิงหาคม 2560
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมมอบนโยบายการพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการอุดมศึกษาถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งตนกำลังดูว่าถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยกฎหมายที่มีอยู่ ก็อาจจะต้องใช้อำนาจกฎหมายพิเศษ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) เข้าไปดูแลในภาพรวม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล แต่ไม่ได้เข้าไปวุ่นวายอะไร ยังให้อิสระกับมหาวิทยาลัยอยู่เช่นเดิม และจะใช้ในภาพรวม ไม่มีการเจาะเฉพาะมหาวิทยาลัย
ส่วนความคืบหน้าในการยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแก้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์หลายเรื่องที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าไปกำกับดูแลนั้น ก็ต้องดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งนี้ ส่วนตัวเมื่อเข้ามาทำงานก็พยายามแก้ไขปัญหาทางการศึกษาที่พบ และให้คนในองค์กรยอมรับร่วมกัน โดยตนจะไม่ทำอะไรซุกไว้ใต้พรม
สำหรับประเด็นการศึกษาของ มรภ. พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศธ.ไม่เคยล้ำเส้นการผลิตครูของสถาบันอุดมศึกษา 80 แห่ง เพียงแต่ขอให้หน่วยงานต่างๆ ได้คิดและหารือร่วมกันเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครู อาจจะมีการเปรียบเทียบกับหลักสูตรผลิตครูของหลายๆ ประเทศ เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานและเกิดการยอมรับร่วมกันก่อนที่จะประกาศใช้ ดังนั้นตนจึงมอบให้ มรภ.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดกรอบเวลา (Time Frame) ในการผลิตและทดลองหลักสูตรใหม่ สามารถใช้ได้ภายในสิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษาหน้า โดยได้ฝากประเด็นการปรับหลักสูตรด้วยว่า ขอให้มีการถ่ายทอดเทคนิค วิธีการสอนที่ดีของ มรภ.แต่ละแห่งเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกันได้
"นอกจากนี้ ผมยังฝากให้ช่วยกันคิดและวางแผนขับเคลื่อนร่วมกันคือ การจัดการศึกษาในระดับอนุบาล, การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งต้องให้สังคมเห็นด้วยว่าหากโรงเรียนขนาดเล็กมากๆ เช่น โรงเรียนที่มีครู 1-3 คน หากจำเป็นต้องมีการควบรวมก็จะทำให้คุณภาพเกิดขึ้นโดยตรงต่อตัวนักเรียนเอง" รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนางสมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ตนจะรับนโยบายโดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูในปัจจุบันให้สอดคล้องกับโลกอนาคต เช่น ครูจะต้องมีทักษะภาษาอังกฤษพื้นฐาน ไม่ใช่เฉพาะครูภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ เป็นต้น เพราะหน้าที่หลักของ มรภ.คือการผลิตครูอยู่แล้ว สำหรับปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ตนมองว่า ศธ.มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก และการผลิตครูในปัจจุบันที่ผลิตตามสาขาอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กน้อย และต้องการครูที่สามารถบูรณาการการสอนระหว่างวิชาและระหว่างชั้นได้ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันในเรื่องนี้
"ทั้งนี้ การจัดการศึกษาระดับอนุบาล แน่นอนว่าทุก มรภ.มีการผลิตครูสาขาปฐมวัยอยู่แล้ว และหลักสูตรก็มีความเข้มข้นมาก เพราะนักศึกษาต้องเรียนภาคทฤษฎีเกี่ยวกับเด็ก รวมถึงต้องเรียนภาคปฏิบัติเพื่อได้ทดลองทำกิจกรรม หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนที่ส่งเสริม สมรรถนะการเรียนรู้ให้แก่เด็กเล็ก หากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัย ครูสาขาการศึกษาปฐมวัยของ มรภ.สามารถช่วยเหลือได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้นักศึกษามีจำนวนลดลง มรภ.จึงได้ปรับกลยุทธ์จากที่ผลิตนักศึกษาเพื่อจะมาเป็นครูอย่างเดียว ก็ขับเคลื่อนการพัฒนาครูประจำการด้วย เนื่องจาก มรภ.เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงโรงเรียนในพื้นที่" ประธาน ทปอ.มรภ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 1 มิถุนายน 2559