ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกศ.ได้ทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2574) ครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว ซึ่งได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นต้องมีการปรับปรุง 4 ประเด็น คือ
1. เรื่องสถานภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ทุกภูมิภาคไม่เห็นด้วยกับการให้ครูเป็นพนักงานราชการ และ ไม่เห็นด้วยที่จะย้ายผู้บริหารการศึกษาทุก 4 ปี ดังนั้น 2 เรื่องนี้จะตัดออกและจะเขียนใหม่เป็นแผนผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ส่วนครูก็จะเป็นข้าราชการเหมือนเดิม แต่จะมีระบบดูแลครูตั้งแต่การผลิต ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าจะเป็นการผลิตระบบปิด หรือผลิตระบบเปิด
2. การกำหนดให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมองกันว่าจะเป็นการผลักโรงเรียนไปสังกัดท้องถิ่น และเชื่อว่าจะหลุดจากระบบราชการในที่สุดนั้น ประเด็นนี้ ก็จะไม่เขียนล็อกไว้หรือบังคับให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล แต่จะส่งเสริมให้เป็นนิติบุคคล
ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า
3. เรื่องระบบงบประมาณทางการศึกษา เช่น กองทุนการศึกษาคูปองการศึกษา งบเพิ่มพิเศษ หรือเงินท็อปอัพ เป็นต้น จะมีการระบุหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน และ
4. การพัฒนาหลักสูตร ซึ่งจะเน้น 2 เรื่อง คือ การสร้างหลักสูตรกลาง และหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน ต่อไป โดยเบื้องต้นคาดว่า หลักสูตรกลาง 80% กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ และ 20% กำหนดโดยท้องถิ่นร่วมกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาคนตามความต้องการของท้องถิ่น
"ตอนนี้ถือได้ว่าได้มาถึงจุดที่กำลังจะเป็นแผนการศึกษาแห่งชาติที่สมบูรณ์แล้ว คณะงานจะพยายามปรับปรุงร่างแผนฯให้ทันเสนอใน การประชุมสภาการศึกษาเดือนมิถุนายน หรือ กรกฎาคมนี้ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนสิงหาคม และให้สามารถตีพิมพ์ได้ใน เดือนกันยายน เพื่อประกาศใช้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2559" ดร.กมล กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 เวลา 12.22 น.