การศึกษาประชารัฐ FOCUS ที่พัฒนาครู
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
หลังการประชุมคณะทำงานร่วมรัฐ เอกชน ประชาชน (ประชารัฐ) ทั้ง 12 ชุด ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานติดตามความคืบหน้า รับฟังข้อเสนอและโครงการของแต่ละคณะทำงาน
ต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2559 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หัวหน้าทีมภาครัฐ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้บริหารโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการระยะที่ 1 ทั่วประเทศ 3,342 โรงเรียน ผู้เข้าร่วมกว่า 3,500 คน
ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชนกว่า 25 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ
ภาคเอกชนจะเข้าร่วมสนับสนุน 3 โครงการ คือ 1.โครงการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการศึกษา 10 ด้าน 2.โครงการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ CONNEXT Ed 3.โครงการมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศด้านงานวิจัย
โรงเรียนที่จะได้รับการพัฒนาตามโครงการภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลือของ School Partners จากภาคเอกชน 1,000 คน นอกจากนี้จะมี School Sponsor ที่เป็นผู้บริหารระดับ CEO หรือ CEO-1 จะเข้าไปเรียนรู้กับผู้บริหารสถานศึกษาและร่วมพัฒนาโรงเรียน ภาคเอกชนจะสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนปีละ 500,000-1,000,000 บาท คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาทต่อปี จะมีการลงนาม MOU กับ 12 องค์กรที่จะเข้าร่วมโครงการภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากนี้องค์กรเหล่านี้จะดูแลโรงเรียนทั้ง 18 ภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ ภาคเอกชน 1 องค์กรจะดูแลสถานศึกษาใน 1-2 ภาค
ส่วนกลไกเพื่อรองรับโครงการทั้งหมดมีการตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยลงไปอีก 5 คณะ 1.คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณภาพการจัดการศึกษา 2.คณะทำงานพัฒนาหลักสูตร ต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ 3.คณะทำงานด้านพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน 4.คณะทำงานด้านพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และการสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 5.คณะทำงานพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค
ทุกคณะได้รับคำสั่งให้สนับสนุนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ตามคำสั่งมาตรา 44 ให้เต็มที่
ครับ ติดตามความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการศึกษารอบใหม่แล้ว เรียกว่า เดินหน้าเต็มสูบ ว่างั้นเถอะ
ประชารัฐ หัวใจก็คือ การดึงภาคเอกชน ประชาสังคม มาร่วมรับผิดชอบ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาให้มากขึ้น หาผู้มาร่วมลงขันเพิ่มนั่นเอง
หลังจากที่งานวิจัยพบว่า การจัดงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาของไทยสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกและกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนกลับอยู่อันดับท้ายๆ
ประเด็นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าขาดแคลนงบประมาณ ขาดการสนับสนุน แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ โครงการไปในทิศทางและจุดที่ควรจะทุ่มเทลงไปก่อนหลังตามลำดับมีประสิทธิภาพแค่ไหนต่างหาก
ครั้งนี้ก็อีกเช่นกัน การเติมความช่วยเหลือ เติมงบประมาณลงไปตามโครงการขนาดใหญ่ยักษ์ ทั้งงบประมาณรัฐและภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก ประเด็นจึงไม่ใช่แค่ระดมได้มากน้อยจำนวนเท่าไหร่
แต่หัวใจอยู่ที่ว่า จะสนับสนุนไปที่ไหน บริหารจัดการอย่างไร วิธีใช้งบประมาณที่เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่าสูงสุด
ฉะนั้นต้องกลับมาสู่หลัก คิดใหญ่ ทำย่อย เห็นผลชัด เห็นผลเร็ว หากผิดพลาดเสียหายก็เสียหายน้อยสุด อยู่ในวงจำกัด
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดศึกษา เริ่มตั้งแต่การจัดการระบบฐานข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี ไอซีที ทักษะการสื่อสาร เครื่องมืออุปกรณ์ก็ดี แต่คานงัดสำคัญ หัวใจอยู่ที่คน ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูและผู้บริหาร
ข้อเสนอของผมต่อแนวทางการดำเนินงานของโครงการประชารัฐด้านการศึกษา ควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาครูให้หนัก เป็นหลักก่อน
ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ครู ครูปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ การเรียนการสอน จากที่เคยสั่งและสอนเป็นหลัก มาร่วมเรียนรู้ไปกับนักเรียน
จากที่เคยใช้อำนาจเป็นหลัก มาใช้ความรักเป็นฐาน ที่ผ่านมามีกระบวนการดีๆ ที่เห็นผลมาแล้วหลายรูปแบบ
ซึ่งลึกซึ้งและเกิดผลที่ตัวครูจริงๆ ยิ่งกว่าโครงการคืนครูสู่ห้องเรียน ครูครบชั้น ครูตรงสาขา ครูคืนถิ่น อบรมครูออนไลน์ที่กำลังทำอยู่ขณะนี้เพราะยังวนเวียนอยู่กับครูคนเก่า ขณะที่ความจำเป็นของยุคสมัยคือทำให้ครูคนเก่าเป็นครูคนใหม่ที่มีจิตวิญญาณ
ครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน ครูเปลี่ยน ครับ
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2559