พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ เข้าร่วมประชุม โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)
- เตรียมเดินทางไปตรวจเยี่ยมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการวางแผนเดินทางไปตรวจเยี่ยม กศจ.ในจังหวัดต่างๆ ของรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อติดตามปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน โดยจะเชิญศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดเข้าร่วมประชุมพร้อมกันด้วย
- การจัดทำเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release) ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมมอบให้นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ประสานทุกองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ ในการจัดทำเอกสารข่าว (Press Release) เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นรายสัปดาห์ โดยขอให้จัดทำเนื้อหาข่าวซึ่งเข้าใจง่าย ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี
- การจัดทำหนังสือจดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติ ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ซึ่งจะมีการจัดทำหนังสือรูปเล่มขนาด A4 ปกแข็ง พิมพ์สี่สี จำนวน 500 หน้า และมีโครงเรื่องแบ่งเป็น 6 ภาค โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานในการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯ 2 คณะ คือ 1) คณะทำงานจัดทำหนังสือภาคที่ 1-5 โดยมีอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นเลขานุการ 2) คณะทำงานจัดทำหนังสือภาคที่ 6 รวบรวมกิจกรรม ภาพความรู้สึกของประชาชน นักเรียน หรือประชาชนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป. เป็นเลขานุการ
- รับทราบผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับงบประมาณรวมจำนวน 517,076 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 1 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2559) มีผลการใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงจำนวน 281,249 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54.39 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณเพียงเล็กน้อย
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)
- การปรับปรุงหลักเกณฑ์จัดการศึกษานอกระบบระดับพื้นฐาน ที่ประชุมรับทราบการปรับปรุงและเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินงานตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2559) ใน 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยยึดหลักการเป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่น ทั้งเนื้อหาสาระการเรียนรู้-เวลา-การจัดการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย เน้นบูรณาการให้สอดคล้องกับการทำงานของผู้เรียนและวิถีชุมชนมากขึ้น ส่งเสริมให้มีการเทียบโอน ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายได้มีส่วนร่วม โดยมีรายละเอียดดังนี้
โครงสร้างหลักสูตร แบ่งเป็น วิชาบังคับ จะต้องมีการวิเคราะห์เนื้อหาที่ผู้เรียนต้องรู้และปรับปรุงให้มีความทันสมัย และวิชาเลือก 2 ส่วน คือ 1) วิชาเลือกบังคับ สถานศึกษาพัฒนาวิชาเลือกบังคับตามนโยบายการพัฒนาประเทศในช่วงแรก 2 วิชา คือวิชาพลังงานไฟฟ้าและความรู้ทางการเงิน 2) วิชาเลือกเสรี ให้สถานศึกษา หน่วยงานในท้องถิ่น และชุมชน ร่วมกันพัฒนาวิชาเลือกเสรีตามความต้องการ ความจำเป็น และความสนใจของผู้เรียนและวิถีชุมชน
สาระการเรียนรู้
|
จำนวนหน่วยกิต
|
ประถมศึกษา
|
มัธยมตอนต้น
|
มัธยมตอนปลาย
|
วิชาบังคับ
|
วิชาเลือก
|
วิชาบังคับ
|
วิชาเลือก
|
วิชาบังคับ
|
วิชาเลือก
|
บังคับ
|
เสรี
|
บังคับ
|
เสรี
|
บังคับ
|
เสรี
|
ทักษะการเรียนรู้
|
5
|
-
|
-
|
5
|
-
|
-
|
5
|
-
|
-
|
ความรู้พื้นฐาน
|
12
|
2
|
-
|
16
|
3
|
-
|
20
|
3
|
-
|
การประกอบอาชีพ
|
8
|
-
|
-
|
8
|
-
|
-
|
8
|
-
|
-
|
ทักษะการดำเนินชีวิต
|
5
|
2
|
-
|
5
|
3
|
-
|
5
|
3
|
-
|
การพัฒนาสังคม
|
6
|
-
|
-
|
6
|
-
|
-
|
6
|
-
|
-
|
รวม
|
36
|
4
|
8
|
40
|
6
|
10
|
44
|
6
|
26
|
48
|
56
|
76
|
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
|
200 ชั่วโมง
|
200 ชั่วโมง
|
200 ชั่วโมง
|
การจัดกระบวนการเรียนรู้ ครู กศน.จะเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมผู้เรียนเป็นรายกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย และรายบุคคล ส่วนผู้เรียนสามารถใช้วิธีเรียนรู้แบบผสมผสาน ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ทางไกล การพบกลุ่ม การเข้าค่าย การสอนเสริม หรือการเรียนโดยโครงงาน
การวัดและประเมินผล แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1) วิชาบังคับ สำนักงาน กศน.กำหนดการวัดผลเนื้อหาที่ต้องรู้ในสัดส่วน 60:40 (ระหว่างภาคเรียน : ปลายภาคเรียน) ซึ่งจะสอดคล้องกับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติการศึกษานอกระบบโรงเรียน หรือ N-NET (Non-Formal National Education Test) พร้อมจัดทำ Test Blueprint ด้วย
2) วิชาเลือกบังคับ วัดผลในสัดส่วน 60:40 (ระหว่างภาคเรียน : ปลายภาคเรียน) โดยกลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบรับผิดชอบจัดทำ Test Blueprint เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และในส่วนของวิชาเลือกเสรี สถานศึกษาจะต้องเพิ่มเกณฑ์การวัดและประเมินผลในระเบียบสถานศึกษาว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียน
การเทียบโอนผลการเรียน เช่น ปรับแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนหลักสูตรของการศึกษาในระบบให้เทียบโอนสู่หลักสูตรนี้, พัฒนาเกณฑ์เทียบโอนกลุ่มอาชีพ, พัฒนาการเทียบโอนจากหลักฐานการประเมินมาตรฐานวิชาชีพที่หน่วยงานเป็นผู้ประเมิน เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
- การยกระดับการศึกษาของพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ประชุมรับทราบรายงานการยกระดับการศึกษาของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนกว่า 3,000 คน ให้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) และเป็นการตอบสนองนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการปรับรูปแบบการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการแท้จริงของประชาชนและชุมชนมากขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงาน กศน. ได้ดำเนินการเปิดรับสมัครพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ยังไม่มีวุฒิการศึกษา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 เพื่อเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป โดยมีแนวทางดำเนินงานใน 2 ส่วน คือ
1) การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ใช้เวลา 1 ปี โดยผู้สมัครจะต้องเป็น รปภ.ไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน เพื่อสมัครเรียนแบบพบกลุ่มหรือแบบทางไกลระดับ ม.ต้น รวม 34 หน่วยกิต เป็นเวลา 1 ปี และสามารถเทียบโอนความรู้-ประสบการณ์ได้ 22 หน่วยกิต
2) การเทียบระดับการศึกษา ใช้เวลา 6 เดือน โดยผู้สนใจสามารถมาสมัครเพื่อรับการเทียบระดับ ม.ต้น จากนั้นจะมีการปฐมนิเทศ สัมภาษณ์ ตรวจสอบหลักฐาน ตลอดจนทดสอบมิติความรู้ความคิด (ภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม และพลานามัย) และหากมีคะแนนผ่านตามเกณฑ์ก็จะสามารถเข้ารับการสัมมนาในขั้นตอนสุดท้ายจำนวน 30 ชั่วโมง (3 วัน 2 คืน)
- โครงการบรรณสัญจร (Book Voyage) ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการบรรณสัญจร ประจำปี 2559 ซึ่งสำนักงาน กศน.ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการพร้อมจัดพิธีลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายกว่า 10 แห่ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านทั่วประเทศ ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เชิญชวนรับบริจาคหนังสือและสื่อส่งเสริมการอ่านให้แก่แหล่งการอ่านและการเรียนรู้ในสังกัดสำนักงาน กศน. รวม 26,835 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” 94 แห่ง ห้องสมุดประชาชนจังหวัด 72 แห่ง ห้องสมุดประชาชนอำเภอ 745 แห่ง กศน.ตำบล 7,424 แห่ง และบ้านหนังสือชุมชน 18,500 แห่ง
โดยมีเป้าหมายหลายประการ คือ ได้รับบริจาคหนังสือไม่น้อยกว่า 10 ล้านเล่ม, มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 100 เครือข่าย, เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการอ่านจากเครือข่ายทุกภาคส่วน, ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านและได้รับบริการส่งเสริมการอ่านอย่างเสมอภาค ทั้งนี้ขณะนี้มีเครือข่ายเข้าร่วมโครงการหลายแห่งแล้ว อาทิ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), บริษัท วัชรพล จำกัด, บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สมคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด (SCG Packaging)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- รวบรวมข้อมูลครู ที่ประชุมมอบหมายให้ สพฐ.รวบรวมข้อมูลการเกลี่ยครูย้อนหลังเป็นเวลา 5 ปี โดยแยกตามขนาดของโรงเรียน เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ วางแผนบรรจุครู และส่งไปยัง กศจ.ต่อไป รวมทั้งให้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีการเรียกบรรจุครูผู้ช่วย ซึ่งจะครบกำหนดการขึ้นบัญชี 2 ปี ในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ เพื่อนำมาพิจารณาแนวทางในการดูแลและให้ความเป็นธรรมกับครูทุกคน เช่น เขตพื้นที่การศึกษาใดที่เรียกบรรจุไม่ทันกำหนดเวลา จะต้องมาดูว่าจะสามารถคืนสิทธิ์ให้ครูได้อย่างไร แต่หากพบว่ามีการเรียกรับเงิน ก็จะต้องดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงของรอยต่ออาจเกิดปัญหาขึ้นได้ แต่กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ทอดทิ้งครูอย่างแน่นอน และขอความร่วมมือครูอย่าได้หลงเชื่อผู้แอบอ้างหรือเรียกรับเงินเพื่อจะช่วยเร่งรัดเรื่องให้เร็วขึ้น
สำหรับการสอบครูผู้ช่วยรอบใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดปฏิทินการสอบตามวงรอบปกติ ซึ่งในรอบนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนระบบอะไร เพียงแต่เปลี่ยนผู้จัดสอบจากเขตพื้นที่การศึกษา เป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้จัดสอบ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีแนวคิดกลับไปสอบแบบมีข้อสอบกลาง ซึ่งคงต้องรอระยะเวลาและความพร้อมเพื่อเปลี่ยนไปสู่ระบบข้อสอบกลางในอนาคต
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
- นวนิยายเด็กอาชีวะ ที่ประชุมรับทราบการจัดพิมพ์นวนิยายรักโรแมนติก 2 เรื่อง คือ วางหัวใจบนก้อนดิน (คณิตยา) และใต้ปีกรัก (พิมพิสุธญ์) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักเรียนนักศึกษาอาชีวะ โดยผู้เขียนได้นำเค้าโครงเรื่องบางส่วนมาจากชีวิตจริงของเด็กอาชีวะ โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและผู้สนใจได้อ่าน ซึ่งจะนำไปไว้ในห้องสมุดโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศและห้องสมุดโครงการบรรณสัญจรกว่า 10,000 เล่ม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นเพียงเป็นส่วนหนึ่งของการปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษาเท่านั้น และขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ดำเนินโครงการเพื่อปรับภาพลักษณ์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในหลายๆ รูปแบบ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้อ่านนิยายทั้งสองฉบับแล้ว เห็นว่าพล็อตเรื่องมีความน่าสนใจและช่วยสื่อสารให้ผู้คนได้เห็นมุมอื่นๆ ของเด็กอาชีวะบ้างไม่มากก็น้อย จึงขอเชิญชวนให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่สนใจ หาอ่านนวนิยายนี้ได้ที่ห้องสมุดโรงเรียนมัธยมศึกษาและห้องสมุดประชาชนทุกแห่งทั่วประเทศ
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
- ความเชื่อมโยงนโยบายการศึกษากับหัวข้องานวิจัย ที่ประชุมรับทราบเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวข้องานวิจัยของ สกศ. ซึ่งจะใช้เป็นกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของ สกศ. ประจำปีงบประมาณ 2559 จำนวน 8 กลุ่มตัวชี้วัด โดยมีตัวชี้วัดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและงานสังเคราะห์หรือวิเคราะห์องค์ความรู้ที่แล้วเสร็จและนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการตามเกณฑ์มาตรฐานกระบวนการวิจัย/การสังเคราะห์หรือวิเคราะห์องค์ความรู้ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)
ดังนั้น สกศ.จะได้วิเคราะห์ความเหมาะสมและความสอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และงานวิจัยของ สกศ. จำนวน 30 โครงการ เพื่อนำมาเสนอและขอความเห็นในการดำเนินงานต่อไป
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ มอบให้ สกศ.รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำมาประชุมหารือเป็นการเฉพาะเรื่องอีกครั้ง เพื่อจะได้มีเวลาในการพิจารณาโครงการที่มีความจำเป็นและเหมาะสมกับการปฏิรูปการศึกษาในห้วงเวลานี้มากที่สุด
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.)
- O-Net กับการปฏิรูปการศึกษา ที่ประชุมรับทราบสรุปข้อมูลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติกับการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (Ordinary National Educational Test : O-NET and Educational Reform of the Ministry of Education) ซึ่ง สทศ.ได้จัดสอบและพัฒนารูปแบบการรายงานผลคะแนน O-NET เพื่อช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษา สำหรับรายบุคคลที่จะมีส่วนช่วยในการประเมินตนเองและวางแผนการเรียนในระดับที่สูงขึ้น และสำหรับรายโรงเรียนที่จะสามารถประเมินสถานศึกษา ตลอดจนประเมินผลการเรียนการสอนและหลักสูตรที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบให้ สทศ.จัดทำข้อมูลการสอบ O-NET จำแนกเป็นรายวิชา/รายจังหวัด/รายเขตพื้นที่มาเสนอ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะสามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้จริง และทำให้ทราบว่าโรงเรียนใดมีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง จากนั้นจะส่งข้อมูลให้กับ กศจ.ไปศึกษาภาพรวม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 20 เมษายน 2559