เมื่อวันที่ 17 เมษายน นายอดิศักดิ์ มุ่งชู ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) และรองศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เลย เปิดเผยความคืบหน้าการเรียกบรรจุครูผู้ช่วยในสังกัด สพม.เขต 19 ว่า นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชัดเจนว่าให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เร่งพิจารณาเรื่องที่เร่งด่วน กศจ.เลย จึงเรียกประชุมเมื่อวันที่ 11 เมษายน และมีมติให้ดำเนินการเรื่องโยกย้าย และบรรจุครู ต่อจากที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ ได้กลั่นกรองแล้ว โดยที่ประชุม กศจ.มีมติให้ใช้อัตราว่าง 32 อัตรา สำหรับโยกย้าย 16 อัตรา และเรียกบรรจุจากบัญชีครูที่จะหมดอายุในวันที่ 28 เมษายนนี้ 16 อัตรา
"ส่วนการบรรจุครูในเขตพื้นที่ฯ หนองบัวลำภูนั้น ได้ประชุม กศจ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 11 เมษายน และมีมติให้ใช้อัตราว่าง 16 อัตรา สำหรับโยกย้าย 8 อัตรา และเรียกบรรจุจากบัญชีครูที่จะหมดอายุในวันที่ 28 เมษายน 8 อัตรา แต่ให้กลั่นกรองรายชื่อที่โยกย้ายใหม่ พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง และให้นำเข้าหารือที่ประชุม กศจ.หนองบัวลำภูอีกครั้งในวันที่ 26 เมษายนนี้ คิดว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะการเรียกบรรจุครูมีมติไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน" นายอดิศักดิ์กล่าว
นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 14 กลุ่มจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ กล่าวว่า กรณี ศธ.มีนโยบายให้เกลี่ยอัตรากำลัง และการย้ายครูสายผู้สอนนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ผ่านปลัด ศธ.เกี่ยวกับแนวทางการเกลี่ยอัตรากำลัง และการย้ายข้าราชการครูสายผู้สอนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ โดยเสนอ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ศธจ.และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกแห่ง จัดทำกรอบอัตรากำลังให้เป็นปัจจุบัน และตรงกับความจำเป็น โดยสำรวจทั้งเชิงคุณภาพ และปริมาณ จากนั้นวิเคราะห์รายโรงเรียน และรายเขตพื้นที่ฯ เสนอคณะกรรมการ กศจ.เห็นชอบเป็นกรอบอัตรากำลัง พร้อมประกาศกรอบอัตรากำลัง และข้อมูลจริง
ตามฐานข้อมูลนักเรียนจริงให้ครูทราบโดยทั่วกัน และเปิดโอกาสให้ครูที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษในสาระวิชาใด มีค่าเท่ากับสำเร็จการศึกษาวิชาเอกนั้นๆ เช่น ครูจบพัฒนาชุมชน แต่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษวิชาเอกคณิตศาสตร์ ควรได้สิทธิพิจารณาย้ายไปโรงเรียนที่มีความจำเป็นวิชาเอกคณิตศาสตร์ด้วย เป็นต้น
นายอรรถพลกล่าวด้วยว่า 2.เกลี่ยอัตรากำลังโดยตัดโอนตำแหน่ง และอัตราเงินเดือนตามตัว โดยให้ครู/พนักงานราชการครูผู้สอน/ครูอัตราจ้าง ยื่นใบสมัครขอตัดโอนตำแหน่ง และเงินเดือนตามตัวได้ตลอดปี ณ เขตพื้นที่ฯ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของผู้บังคับบัญชาชั้นต้น หรือผู้อำนวยการโรงเรียน และการเกลี่ยอัตรากำลังให้ถือเป็นการย้ายกรณีประโยชน์ราชการ มิใช่ย้ายตามคำขอ เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน 3.การเกลี่ยอัตรากำลัง กรณีมีอัตราว่างจากครูอัตราจ้าง/ พนักงานราชการครูผู้สอน ที่อยู่ในโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ ให้คืนไปรวมกันที่ สพท.เพื่อจัดสรรใหม่ และ 4.การพิจารณาย้ายครูผู้สอน เปิดโอกาสให้ครูยื่นคำร้องขอย้ายเพิ่มเติม จากเดิมยื่นได้เขตเดียว เปลี่ยนเป็นยื่นได้หลายเขต แต่ต้องภายในจังหวัดเดียวกัน กรณีย้ายสับเปลี่ยน (ถ้ามี) ให้ย้ายสับเปลี่ยนได้ แต่ต้องไม่มีโรงเรียนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอัตรากำลังเกินเกณฑ์ และต้องตรงกับความจำเป็นวิชาเอกตามกรอบอัตรากำลังที่ กศจ.อนุมัติ และควรพิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังอย่างน้อย 3 เดือน/ครั้ง
"การจัดสรรโควต้า และเม็ดเงินในการเลื่อนขั้นเงินหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเดือน ไม่ควรยึดตามตัวจริง แต่ควรยึดตามกรอบอัตรากำลังเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นโรงเรียนที่มีครูเกินจะได้เปรียบ และโรงเรียนที่ครูขาดจะเดือดร้อน ซึ่งไม่เกิดแรงจูงใจต่อการเกลี่ยอัตรากำลัง เงื่อนไขความสำเร็จดังกล่าวควรต้องแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครู ว16 ลว.ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ให้สอดคล้องกัน และมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการ สพท.บริหารจัดการตำแหน่งครูอัตราจ้าง และพนักงานราชการครูผู้สอน ซึ่งแนวทางเกลี่ยอัตรากำลัง และการย้ายครูผู้สอนดังกล่าว จะส่งผลให้การบริหารอัตรากำลังครูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ" นายอรรถพลกล่าว
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.กล่าวว่า ในฐานะ ศธภ.ผู้เสนอสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติได้ทันที เพราะ ศธ.ได้กระจายอำนาจให้แล้ว ส่วนที่เสนอมาถือเป็นข้อมูลให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ประกอบการพิจารณาได้ แต่เป็นได้แค่ข้อเสนอแนะ ส่วนที่เสนอให้แก้ไข ว16 นั้น ผลจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ยุบคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ ส่งผลให้ ว16 ที่กำหนดเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.ถูกยกเลิกไปด้วย
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 19 เม.ย. 2559 (กรอบบ่าย)