ตามที่ ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นั้น ในเรื่องนี้ ได้มีผู้คนในวงการศึกษากล่าวถึงและให้ความเห็นกันต่างๆ นาๆ ลองมาดูความคิดเห็นของทางฝั่งการเมืองบ้างครับ ว่าใคร มีความคิดเห็น และข้อเสนออย่างไรกันบ้าง
อดีต รมว.ศึกษา ชี้คำสั่ง คสช. ปฏิรูปการศึกษาไม่ตอบโจทย์ ระวังได้ก้อนอิฐ
ปชป. ชี้คำสั่ง คสช.ปฏิรูปการศึกษา ไม่ตอบโจทย์ "ชินวรณ์" แนะ 3 แนวทางปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพ ทั้งคุณภาพครูและผู้เรียน
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า การออกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ที่ 10/2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคำสั่งที่ 11/2559 เรื่องการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค สร้างความฮือฮาให้กับชาวกระทรวงศึกษาธิการและประชาชนที่สนใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างจากครั้งที่ประกาศใช้มาตรา 44 ยุบกองการศึกษาอาชีวะเอกชน มาอยู่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเหมือนกับการเอาดาบอาญาสิทธิ์ มาดายหญ้า นอกจากผิดหลักการแล้ว ยังไม่มีผลต่อการปฏิรูปการอาชีวศึกษาเลย แต่การประกาศคำสั่ง คสช. ล่าสุด ย่อมมีผลสะเทือนต่อการปฏิรูปการศึกษาแน่นอน แต่ในเบื้องต้นเห็นว่าคำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้ ควรมีแนวทาง คือ 1.มองถึงปัญหาการศึกษาของชาติไม่เป็นองค์รวม ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการที่ไม่มีเอกภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย และผู้บริหารกระทรวงฯ ในแต่ละยุคสมัยไม่มีความรู้ ประกอบกับครูและบุคลากรทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ขาดคุณภาพ การแก้ปัญหาการบริหารกระทรวงฯในภูมิภาคจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า 2. เน้นเรื่องความเรียบร้อย และการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและความไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีปัญหาดำรงอยู่จริง แต่ไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาในทางสากล และ 3.ถึงแม้คำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้จะเน้นการบูรณาการภารกิจในเรื่องการศึกษาของประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารงานโดยประชารัฐ แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้วจุดหลักของคำสั่งเน้นที่การบริหารงานบุคคล เอาอำนาจการแต่งตั่งโยกย้ายมาไว้ที่คนคนเดียว และจัดตั้งองค์กรใหม่ในระดับภูมิภาค จำนวน 18 ภูมิภาคและจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทั้งที่หน่วยงานเขตพื้นที่ก็ยังคงมีทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่สำคัญหน่วยงานการศึกษาในระดับอาชีวะและระดับมหาวิทยาลัย ไม่ได้เข้ามาร่วมบูรณาการเลย
นายชินวรณ์กล่าวอีกว่า ดังนั้นขอเสนอแนะ ดังนี้ 1.หากจะปฏิรูปการศึกษาควรจะดำเนินการโดยองค์รวมอย่างจริงจัง 2.การปฏิรูปการเรียนรู้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพครู หากไม่สามารถสร้างครูดีครูเก่งได้ภายใน 10 ปี การศึกษาไทยจะล้มเหลวมากกว่านี้ และ 3.การลงทุนทางการศึกษาเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ หากจะปฏิรูปการศึกษาจะต้องดำเนินการให้โปร่งใส ให้ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามหวังว่าการแก้ปัญหาการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคคงมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาโดยองค์รวมต่อไป เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เป็นไปตามเป้าประสงค์และมีศักยภาพในการแข่งขันกับสังคมโลกในยุคที่ 4 หรือยุคดิจิทัลในอนาคต อย่าเป็นเพียงที่เพื่อจะหวังให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นฐานทางการเมือง สุดท้ายท่านจะได้ก้อนอิฐมากกว่าเสียงปรบมือ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 มีนาคม 2559
หมอวรงค์ แนะ "บิ๊กตู่" ใช้ ม.44 สั่งปฏิรูปการศึกษา เพิ่มงบ-ให้อำนาจ-เลิกประเมินแบบเก่า
วันที่ 22 มีนาคม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ คสช.มีคำสั่ง เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ คำสั่งทั้ง 2 ฉบับ จะนำไปสู่การปฏิรูปเชิงคุณภาพของการศึกษาชาติได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ปฏิรูปโครงสร้างทางอำนาจของผู้บริหารเท่านั้น โดยเปลี่ยนจากเหล้าที่อยู่ในขวดปัจจุบัน นำไปใส่ขวดเก่าที่เคยมีมาในอดีต โจทย์ใหญ่ทางคุณภาพการศึกษาคือ ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียน คือ ผอ.โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง หลักสูตร งบประมาณ การบริหาร เพื่อให้เด็กไทยสัมฤทธิผลคุณภาพ 7 ด้าน คือ 1.เป็นคนเก่ง 2.เป็นคนดี 3.มีวินัย เป็นพื้นฐานของการเคารพกติกา กฎหมายของสังคม 4.มีเหตุมีผล เป็นเรื่องที่ต้องฝึกเด็กให้ใช้เหตุใช้ผล การคิดและวิเคราะห์ เพื่อให้เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ 5.ความสามารถสื่อสารได้สองภาษา 6.ทักษะชีวิต ความสามารถเอาตัวรอดในสังคม นอกตำราเรียน และ 7.การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวัย
"คำสั่ง คสช.ทั้งสองฉบับดังกล่าว จะพบว่ายังไม่ตอบโจทย์ที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนและห้องเรียน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้รวมศูนย์การบริหารงานที่แตกกระจายมาอยู่ที่แห่งเดียวภายในจังหวัด ดังนั้น ถ้ารับรู้ถึงเป้าหมายเชิงคุณภาพของการศึกษาว่าจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง รัฐบาลและ คสช.ต้องไม่หยุดเพียงแค่สองคำสั่งนี้ ต้องมีคำสั่งเพิ่มเติมในการเพิ่มอำนาจ การบริหารบุคลากร เพิ่มเติมงบประมาณตรงสู่โรงเรียน ยกเลิกการประเมินแบบเก่า โดยหันมาประเมินนักเรียนเพื่อให้เป็นผลงานของครูและ ผอ.โรงเรียน กำหนดเป้าหมายการประเมินแก่ ผอ.โรงเรียน พัฒนาให้โรงเรียนเป็นหัวใจของการศึกษา โดยการสร้างค่านิยมว่า การเป็นผอ.โรงเรียนถือว่าสูงสุด ส่วนระดับจังหวัด ระดับภาคและกระทรวงเน้นที่การเป็นหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกแก่โรงเรียน คอยติดตาม สนับสนุน ประเมินผลตามเป้าหมาย เพื่อสร้างเด็กไทยให้ได้คุณภาพ ถ้ารัฐบาลและ คสช.สามารถดำเนินการต่อ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษา ถือว่าคุ้มค่ามากกับภารกิจเพื่อปฏิรูปการศึกษา แต่ถ้าไม่ทำอะไรต่อ ก็เป็นเพียงการจัดสรรอำนาจของผู้บริหารเท่านั้น" นพ.วรงค์กล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 มีนาคม 2559