รมว.ศึกษาธิการ แจงใช้ ม.44 ปรับบริหารงานบุคคล ย้ำไม่ได้ยุบเขตพื้นที่ แต่"กศจ." ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจะเข้ามารับโอนอำนาจทำหน้าที่จากคณะกรรมการเขตพื้นที่และอ.ก.ค.ศ.เขตฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 มีคำสั่ง เรื่อง การขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เมื่อค่ำวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวอย่างมากนั้น วันนี้(22 มี.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เนื่องจากตนต้องการขับเคลื่อนการศึกษาระหว่างที่รัฐบาลเหลือเวลาอีก 1 ปีครึ่งในการปฎิรูปประเทศ แต่โครงสร้างการบริหารงานบุคคลรูปแบบเดิมเป็นอุปสรรคให้ทำงานไม่ได้ จึงต้องใช้อำนาจตาม ม.44 เพื่อ1.บูรณการระดับเขตพื้นที่ 2.ให้ช่วงการบังคับบัญชากว้างขึ้น 3.ให้มีเอกภาพในการจัดการศึกษา และ 4.ให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล โดยแนวคิดดังกล่าวตนไม่ได้คิดคนเดียว แต่ได้ฟังความคิดเห็นจากทุกคนใน ศธ.มาแล้ว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงสร้างบริหารงานบุคคลรูปแบบใหม่นั้นจะประกอบไปด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษาของศธ.ในภูมิภาค มีรมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ขับเคลื่อนนโยบายจากส่วนกลางลงสู่สำนักงานศึกษาธิการภาค18 แห่ง ไปยังคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดย กศจ.จังหวัดจะรับโอนอำนาจทำหน้าที่จากคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและผู้แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายข้าราชการครูการคัดเลือกผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน การสอบวินัยข้าราชการครู โดยระหว่างที่รอแต่งตัวโครงสร้างใหม่ก็จะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 ทั่วประเทศ ทำหน้าที่ กศจ.ไปพลางก่อน ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดจะมีผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่นผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยผู้ว่าราชการจะเสนอรายชื่อเข้ามาทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้ยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเขตพื้นที่จะทำหน้าที่ประเมินและติดตามนิเทศผลงานเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามจะมีการใช้คำสั่งมาตรา 44 อีกครั้งซึ่งจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้าง ศธ.
“โครงสร้างงานบริหารบุคคลใหม่นี้จะทำให้การทำงานมีความรวดเร็วขึ้น มีการประสานงานระหว่างองค์กรหลักมากขึ้น และมีการทำงานบูรณการร่วมกัน โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องทุจริตของข้าราชการครูก็จะมีความรวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมาการสอบสวนดำเนินการล่าช้ามาก เรื่องเดียวสอบสวนกัน 3ปีก็ยังทำไม่เสร็จทั้งที่ความผิดก็เห็นอยู่ และเท่าที่ทราบตอนนี้เรื่องสอบสวนทางวินัยมีค้างอยู่ 100 กว่าเรื่อง ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานการศึกษาอย่างมาก" รมว.ศธ.กล่าวและว่า สำหรับงานเร่งด่วนที่จะต้องทำ เช่น คืนครูสู่ห้องเรียน ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู่การผลิตครู ยกระดับภาษาอังกฤษ อาชีวศึกษาเป็นเลิศ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสถานศึกษาเป็นต้น ทั้งนี้โครงการสร้างการบริหารงานใหม่นี้จะต้องสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างศธ.ด้วย ดังนั้นหากโครงสร้างดังกล่าวประสบความสำเร็จก็จะนำไปสู่การบรรจุในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เช่นกัน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่าสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายปฎิรูปการศึกษาที่สำคัญจะกำหนดเป็นดัชนีชี้วัดประเมินผลงานของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ และผู้อำนวยการสถานศึกษา
ต่อข้อถามว่า โครงสร้างเดิมใช้หลักกระจายอำนาจแต่โครงสร้างใหม่เหมือนเป็นการถอยกลับไปสู่ยุคเดิมเป็นการถอยหลังเข้าคลองหรือไม่
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า เวลานี้เรามีปัญหาเยอะ ผลิตเด็กไม่รู้เรื่อง แต่สาเหตุเป็นเพราะอะไรตนไม่ขอตอบ และหากการทำงานที่ผ่านมาเดินหน้าแล้วไม่ดีขึ้น เราก็ควรถอยกลับมาดูของเดิมว่ามีดีอะไรบ้าง ซึ่งขอยืนยันว่าโครงสร้างการบริหารรูปแบบใหม่จะดีขึ้น เพราะได้เกี่ยวร้อยการทำงานขององค์กรหลักมาอยู่ด้วยกัน ส่วนที่มีกระแสต่อต้านนั้น ตนยังไม่ทราบแต่ก็พร้อมรับฟังเพื่อจะได้ดูว่ามีเหตุอะไร จะได้หาทางอุดช่องว่างเหล่านั้น
ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า การโยกย้ายครูเป็นปัญหาใหญ่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กำลังประสบอยู่ เพราะไม่มีอำนาจดำเนินการได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษา เมื่อมีคำสั่งดังกล่าวออกมาก็ช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก ซึ่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ทุกคนก็เห็นด้วย
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 มีนาคม 2559