คุรุสภาถกปัญหาเปิดทางวิศวะ-วิทย์-เทคโนโลยี เป็นครู "ดาว์พงษ์"ติงสถาบันผลิตครูอย่าใจแคบ ให้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีทื่จะได้คนเก่งมาเป็นครู
วันนี้ (22 มี.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเปิดโอกาสให้ผู้จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาสอบบรรจุเป็นครูได้ ซึ่งตนต้องการสอบถามความชัดเจนว่า มีขั้นตอนอย่างไรใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบบ้าง โดยเฉพาะประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า คนที่จบ 3 สาขาดังกล่าวจะทำข้อสอบวิชาเฉพาะได้ดีกว่าคนที่จบสายครูนั้น คิดว่าข้อสอบคงไม่ได้มีความยากมาก จนทำให้คนที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทำไม่ได้ จึงไม่น่ามีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ที่มีการเปิดโอกาสเรื่องนี้ ก็เพราะต้องการให้คนเก่งมาเป็นครู และต้องการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้วย
“ต้องถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนจบวิศวะแล้วมีความตั้งใจมาเป็นครู ซึ่งหาได้ยากมาก ดังนั้นเราต้องหันกลับมามองแล้วว่า ในเมื่อตลาดการผลิตครูเป็นของเราทำไมเราถึงไม่ได้คนเก่ง ๆ มาเป็นครู หรือเพราะเราปิดโอกาสมากเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ควรเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นครูได้ เพื่อจะได้คัดคนเก่ง ๆ มาสอนเด็ก ซึ่งคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ก็ต้องทบทวนตัวเองด้วยเช่นกันว่า การเปิดรับนักศึกษาที่ผ่านมาเน้นปริมาณหรือคุณภาพ อย่าคิดแบบใจแคบว่าจะมีคนมาแย่ง”รมว.ศึกษาธิการกล่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวอีกว่า คนที่ไม่ได้จบสายครูแต่สอบบรรจุได้ก็จะได้ใบอนุญาตปฎิบัติการสอนชั่วคราว และต้องไปพัฒนาตนเอง เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต(ป.บัณฑิต)วิชาชีพครู เพื่อฝึกทักษะจิตวิทยาความเป็นครู รวมทั้งกระบวนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งต้องมีการทดสอบการปฏิบัติงานจริงด้วย ตนจึงมอบให้คุรุสภาไปดูว่า สถาบันที่เปิดสอน ป.บัณฑิต มีเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ เพราะทราบว่ามีคนต้องการเรียนหลักสูตรนี้จำนวนมาก แต่เท่าที่ทราบมีสถาบันที่เปิดหลักสูตร ป.บัณฑิตเพียง 58 แห่งทั่วประเทศ และแต่ละแห่งสามารถรับได้ 180 คนเท่านั้น แต่ทั้งนี้จะต้องดูความเหมาะสมด้วยไม่ใช่เปิดมากเกินไป ที่สำคัญคุรุสภาต้องควบคุมให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 มีนาคม 2559