คอลัมน์ ชีพจรครู
ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างมาตามลำดับสำหรับนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่อยากให้ผู้ที่จะก้าวมาเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาผ่านประสบการณ์การบริหารในโรงเรยีนขนาดเล็กก่อน จากนั้นค่อยขยับมาสู่โรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ ตามลำดับ
โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้จัดประชุมเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของ รองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาใหม่ โดยสำนักงาน ก.ค.ศ.จะไปคิดหลักเกณฑ์ว่า โรงเรียนขนาดเล็ก ควรจะต้องมีมาตรฐานตำแหน่งอย่างไร เพราะมาตรฐานตำแหน่งในปัจจุบัน จะเรียก "ผู้อำนวยการโรงเรียน" เท่ากันหมด ขณะที่แนวทางที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ดำเนินการ จะไปอิงกับกฎหมายเก่า เพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งกฎหมายเก่าได้กำหนดมาตรฐานและเรียกชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กว่า "ครูใหญ่" เรียกชื่อโรงเรียนขนาดกลางว่า "อาจารย์ใหญ่" และเรียกชื่อโรงเรียนขนาดใหญ่ว่า "ผู้อำนวยการโรงเรียน" ดังนั้น จึงต้องเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้อำนวยการโรงเรียน ควรต้องได้เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะแค่ไหน โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ ควรจะได้รับเงินประจำตำแหน่ง จำนวนเท่าไร
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. บอกว่า การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงผู้ที่มีคุณสมบัติในการเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการในปัจจุบันด้วย ซึ่งตามหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งในปัจจุบัน กำหนดคุณสมบัติว่า เฉพาะตำแหน่งสำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เปิดกว้างให้ครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ ซึ่งเท่ากับว่า หากจบปริญญาตรี เมื่อเป็นครูผู้ช่วย 2 ปี และทำงานอีก 6 ปี ก็สามารถสอบเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ หากจบปริญญาโท จะใช้เวลารวม 6 ปี แต่หากจบปริญญาเอก ก็จะใช้เวลา 4 ปี ซึ่งมาตรฐานตำแหน่งใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดทำ จะมีการกำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของครู ซึ่งจะทำให้ผู้มีคุณสมบัติสมัครสอบเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาในปัจจุบัน ไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้ โดยคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์ฯ เห็นว่าน่าจะให้โอกาสคนกลุ่มนี้สักระยะหนึ่งก่อน
ส่วนการได้มาซึ่งวิทยฐานะชำนาญการยังเป็นไปตามเดิม เพราะตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องการให้ไล่ไปตามลำดับตำแหน่ง โดยอยางให้เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนมาก่อน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อจะขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนก็ควรต้องไล่ตามลำดับขนาดโรงเรียนเช่นกัน และถ้าจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ก็ต้องสมัครเข้ารับการคัดเลือกใหม่ โดยสำนักงานก.ค.ศ. จะเร่งให้จัดทำร่างดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญฯ วันที่ 11 มีนาคม ก่อนเสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 18 มีนาคม
ทั้งนี้ มาตรฐานการเข้าสู่ตำแหน่งในปัจจุบัน ไม่ได้ห้ามหากรองผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก จะไปเป็นผู้อำนวยการโณงเรียนขนาดใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะต้องพิจารณาความเหมาะสม โดยคนที่เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนใหญ่ จะย้ายไปอยู่โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ก่อน เหลือโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่กำลังจะดำเนินการ จะเป็นการล็อกไว้โดยอัตโนมัติ ว่าต้องเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กก่อน รวมถึงจะกำหนดคุณสมบัติการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในแต่ละระดับด้วย ว่าจะต้องผ่านโรงเรียนขนาดเล็กก่อน
ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ได้ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีประสบการณ์ ซึ่งหากได้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพไปด้วย ขณะเดียวกันเนื้อหาการคัดเลือก ก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย คากว่าจะเ้นคัดเลือกที่ประสบการณ์ โดยนอกจากการทดสอบข้อเขียนทั่วไปแล้ว อาจจะต้องมีการทดสอบประสบการณ์ด้านการบริหาร ร่วมด้วย
ส่วนข้อสรุปจะเป็นอย่างไร "ชีพจรครู" จะนำมารายงานให้เพื่อนครูรับทราบในโอกาสต่อไป
ที่มา คอลัมน์ชีพจรครู หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 9 มีนาคม 2559