พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันพุธที่ 2 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ เข้าร่วมประชุม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการสำคัญของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)
- การพระราชทานชื่อกระเจี๊ยบพันธุ์ใหม่ "เขียวธราธิป"
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ใหม่ “กระเจี๊ยบเขียวธราธิป” มีความหมายว่า กระเจี๊ยบเขียวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นผลงานของนางสาวทิพวรรณ สิทธิรังสรรค์ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาวิชาการ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ศฝก.) จ.ชลบุรี
แนวคิดในการปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบเขียว เกิดจากพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการใช้เมล็ดพันธุ์ใหม่/นำพันธุ์จากต่างประเทศมาปลูกต้องใช้ทุนสูงและต้องระวังเรื่องโรค เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปที่ ศฝก. เมื่อปี 2531
นางสาวทิพวรรณ สิทธิรังสรรค์ จึงได้ศึกษาค้นคว้าและปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวภายใต้ระบบเกษตรธรรมชาติ เพื่อให้ได้ผลผลิตและเมล็ดพันธุ์ที่ดี เป็นเวลานานถึง 16 ปี จนทำให้ได้กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ใหม่ (ศฝก.1) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่ลำต้นมีความแข็งแรง ต้นไม่สูงมากทำให้เก็บเกี่ยวสะดวก มีความต้านทานโรคและแมลงได้ดี ให้จำนวนฝักมาก และฝักมีลักษณะห้าเหลี่ยม รสชาติดี เหมาะต่อการผลิตฝักสดจำหน่าย นอกจากนี้ฝักยังให้น้ำหนักเมล็ดสูงและมีจำนวนเมล็ดต่อฝักมาก เป็นผลดีในด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายด้วย
- งานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ 124 ปี
ที่ประชุมรับทราบแผนดำเนินการจัดงาน วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 124 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรำลึกถึงผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีกิจกรรมหลัก 3 ส่วน คือ 1) พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 125 รูป - พิธีประกาศเกียรติคุณ โดย รมว.ศึกษาธิการเป็นประธานมอบเข็มที่ระลึกเสมาคุณูปการและประกาศเกียรติบัตรแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 85 คน พร้อมอ่านสารนายกรัฐมนตรีและกล่าวคำปราศรัย - การเสวนาวิชาการ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาไทย รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หรือประเด็นอื่นๆ ที่มีความสดใหม่ ท้าทาย และน่าสนใจ
นอกจากนี้ จะมีการจัดงาน "ตลาดนัดคลองผดุงกรุงเกษม" ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นตลาดนัดชุมชน ให้เป็นพื้นที่ค้าขายสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถเชื่อมโยงถึงผู้บริโภคโดยตรง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 1-24 เมษายน 2559 ณ บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม โดยจะมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายและเป็นสัดส่วน อาทิ การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของนักเรียนนักศึกษา ประชาชน, การให้บริการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix-It-Center), จำหน่ายอุปกรณ์การเรียนการสอนขององค์การค้าของ สกสค., โซนการแสดงทักษะความสามารถของนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น
- นวัตกรรมการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ ของชุมแพโมเดล
ที่ประชุมได้รับทราบการนำนวัตกรรม “ชุมแพโมเดล” มาใช้ในการจัดแนะนำการเรียนรู้สู่อาชีพให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเป็นการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น โดยมีแนวคิดหลักที่สำคัญ 5 ข้อ คือ 1) การปรับกระบวนทัศน์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งวิธีคิดและวิถีปฏิบัติ 2) การแนะแนวเชิงรุก 3) การแนะแนวผู้มีอิทธิพล ให้ผู้ปกครองได้รับการแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีพร่วมกับนักเรียน 4) การมองงานเห็นรายได้ สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและทำให้นักเรียนได้เห็นภาพจริงในอนาคต ทั้งอาชีพ ตำแหน่งงาน รายได้ และความมั่นคงในชีวิต 5) การดูแลเมล็ดพันธุ์อาชีวะ สถานศึกษาอาชีวศึกษาที่รับนักเรียนเข้าเรียน จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ ให้ข้อมูล และมีการสื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
- แนวทางการดำเนินงานของ กศน.ตำบล
กศน.ตำบล จะมีการปรับบทบาทภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและบริบทของพื้นที่ ตลอดจนรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนมากขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงาน 4 ศูนย์เรียนรู้ ได้แก่
1) ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล เป็นศูนย์กลางการส่งเสริม จัดกระบวนการเรียนรู้ และหน่วยประสานงานแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในชุมชน ดำเนินงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
2) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย บูรณาการความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และภาคประชาสังคม
3) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งบริหารจัดการฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับ กศน. และชุมชน เพื่อให้มีความรู้และรับรู้ที่เท่าทัน ปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคดิจิทัล
4) ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีคุณภาพที่สอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษา โดยยึดชุมชนเป็นฐานในการดำเนินงาน โดย กศน.ตำบล มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก
- การแต่งตั้งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38ค.(2) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบมติ ก.ค.ศ. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ฯ การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของสงขลา คือ อ.จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) มาใช้บังคับกับบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) โดยอนุโลม
โดยมีสาระสำคัญ เช่น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการได้ โดยต้องมีผลการสอบแข่งขันได้ในสายงานและไม่ต้องรอให้ถึงลำดับที่เรียกบรรจุก่อน, ข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งจะต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น
- ผลการใช้จ่ายงบประมาณ 2559 ของ ศธ.
ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ 2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวน 517,076 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 1 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559) มีผลการใช้จ่ายภาพรวมไปแล้ว 225 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.68 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่ายตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ
- การแก้ไขปัญหาค้างชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา
ที่ประชุมให้ สป. สำรวจและรวบรวมจำนวนข้าราชการ และบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่เคยกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โดยเฉพาะผู้ที่ผิดนัดหรือค้างชำระ เพื่อหามาตรการในการแก้ไขต่อไป
- การลดจำนวนเด็กที่ออกนอกระบบการศึกษา
ที่ประชุมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางการป้องกันหรือลดจำนวนเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยจัดทำเป็นแผนงานที่มีแนวทางและเป้าหมาย ทั้งในระยะสั้นและระยะกลางด้วย
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- ปีแห่งความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับเด็กที่ต้องการจำเป็นพิเศษ
สพฐ.ได้กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษา สำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (2016 the Year of Collaboration to Promote Education (in education Provision on) for Children with Special Needs) ภายใต้หลักการการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ ตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต เน้นดำเนินการใน 4 ด้าน คือ ด้านครอบครัวและชุมชน ท้องถิ่น ด้านสังคม ด้านการแพทย์ และด้านโอกาสทางการศึกษา
โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคนได้รับบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและเสมอภาค โดยการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) และมีความพร้อมในการดำรงชีวิตตลอดจนถึงการประกอบอาชีพ โดยการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่ง สพฐ.จะได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
- การอบรมครูแกนนำสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp)
ด้วย สพฐ.จะจัดการอบรมครูแกนนำด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หลักสูตร Boot Camp ด้วยรูปแบบของค่ายพัฒนาครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 350 คน เป็นเวลา 37 วัน ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม-11 เมษายน 2559 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี โดยมีนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการอบรม โดยจะวิทยากรชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษา จำนวน 30 คน มาอบรมและให้ความรู้ตามหลักสูตรแกนนำครู ซึ่งแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน คือ 1) Teaching Methodology 2) Social Activity
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
- ร่างกรอบทิศทางแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2560-2574
สกศ.รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ ร่างกรอบทิศทางแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2560-2574 โดยมีรายละเอียด คือ
วิสัยทัศน์ (Vision) ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกลไกหลักของการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของทุนมนุษย์ และรองรับการศึกษา การเรียนรู้ และความท้าทายที่เป็นพลวัตของโลกศตวรรษที่ 21
จุดมุ่งหมาย (Goals) การศึกษาเป็นเครื่องมือ/กลไกในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเป็นพลเมือง มีทักษะ ความรู้ความสามารถ
ความคาดหวัง (Aspiration) ลดความแตกต่างในคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา, เพิ่มโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการการศึกษา, กระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปสู่สถานศึกษา, เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อรองรับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในการระดมทุนและการสอนทุนเพื่อการศึกษาของทุกภาคส่วน
เป้าหมายสุดท้าย (Ends) มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ, ประชากรทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาและเรียนรู้, ผู้เรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ ตลอดจนภาคการศึกษามีทรัพยากรและทุนเพียงพอต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
- การปรับปรุงเงื่อนไขการรับทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ที่ประชุมมอบให้ สกอ. เชิญประชุมหารือกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการรับทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีความเข้มข้น และอุดช่องว่างช่องโหว่ให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบถึงประเด็นการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อคิดแก่รัฐมนตรีทุกคนว่า ต้องเตือนตัวเองและตระหนักเสมอว่ามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร ขอให้ทุกคนร่วมมือมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศ ช่วยแก้ไขประเทศในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เพื่อเตรียมอนาคตของประเทศให้สำเร็จ และขอให้ทุกกระทรวงเร่งทำงาน ชนิดที่เรียกว่า “แบบหามรุ่งหามค่ำ” หรือทุ่มเทกับการทำงาน โดยเฉพาะประเด็นเร่งด่วนที่สำคัญ
ในเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังเตรียมที่จะแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้นำไปศึกษาหาความรู้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.สป.) รวบรวมจำนวนความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญไปให้ข้าราชการ ครู และบุคลากร ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาได้รับรู้ต่อไป โดยในเบื้องต้นทราบว่ามีความต้องการประมาณ 9 หมื่นเล่ม ในสถานศึกษาและหน่วยงานกว่า 44,000 แห่ง พร้อมทั้งจะให้ สนย.สป. เตรียมแผนที่จะดำเนินการจัดประชุมชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ข้าราชการ ครู และบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ก่อนการลงประชามติ โดยมีผู้แทนคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเป็นวิทยากร และให้มีการเผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบโดยพร้อมเพรียงกันด้วย
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 2 มีนาคม 2559