เล็งแก้มาตรฐานตำแหน่งแยกผอ.รร.เป็น 3 กลุ่ม
"พินิจศักดิ์"เผยชงปรับมาตรฐานตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา เป็น 3 กลุ่ม ตามขนาดโรงเรียนเล็ก-กลาง-ใหญ่ อิงอดีต ครูใหญ่-อาจารย์ใหญ่-ผอ.รร.พร้อมเพิ่มเกณฑ์ทดสอบประสบการณ์ด้านการบริหาร
วันนี้ (1 มี.ค.) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ(รอง ผอ.)สถานศึกษา และผู้อำนวยการ(ผอ.)สถานศึกษา ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานก.ค.ศ. ได้จัดประชุมสัมมนาเพื่อปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ซึ่งตามนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) อยากให้ผู้ที่มาเป็นผอ.สถานศึกษา ผ่านประสบการณ์บริหารในโรงเรียนขนาดเล็กก่อน จากนั้นขยับมาบริหารโรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่ง ก.ค.ศ.จะต้องมาคิดหลักเกณฑ์ ว่า โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ควรมีมาตรฐานตำแหน่งอย่างไร เพราะในกฏหมายปัจจุบันเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนเท่ากันหมด ดังนั้น อาจจะปรับมาตรฐานตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา เป็น 3 กลุ่ม ตามขนาดโรงเรียน เช่น ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่โดยเทียบเคียงกับในอดีตที่เคยมีการเรียนตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กว่า"ครูใหญ่"ขนาดกลาง เรียกว่า "อาจารย์ใหญ่" และ ขนาดใหญ่ เรียกว่า "ผู้อำนวยการโรงเรียน" และดูด้วยว่าแต่ละตำแหน่งควรได้เงินประจำตำแหน่งและเงินวิทยฐานะ ที่แตกต่างกันเท่าไร
เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวต่อว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ต้องคำนึงถึงผู้ที่มีคุณสมบัติในการเข้ารับการคัดเลือกเป็นผอ.โรงเรียนในปัจจุบันด้วย ซึ่งตามหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งปัจจุบันกำหนดคุณสมบัติ ว่า การเข้าสู่ตำแหน่งผอ.สถานศึกษา เปิดกว้างให้ครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ ซึ่งเท่ากับว่า หากจบปริญญาตรี เมื่อเป็นครูผู้ช่วย 2 ปี และทำงานอีก 6 ปี ก็สามารถสอบเป็น ผอ.สถานศึกษาได้ หากจบปริญญาโท จะใช้เวลารวม 6 ปี แต่หากจบปริญญาเอก ก็จะใช้เวลา 4 ปี ซึ่งมาตรฐานตำแหน่งใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดทำจะมีการกำหนดระยะเวลาการในการดำรงตำแหน่งของครู ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสมัครสอบเป็นผอ.สถานศึกษาในปัจจุบัน ไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้ โดยคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์ฯ เห็นว่า น่าจะให้โอกาสคนกลุ่มนี้สักระยะหนึ่งก่อนด้วย
“ส่วนการได้มาซึ่งวิทยฐานะชำนาญการยังเป็นไปตามเดิม เพราะตามนโยบายของ รมว.ศธ. ต้องการให้ไล่ไปตามลำดับตำแหน่ง โดยอยากให้เป็นรองผอ.โรงเรียนมาก่อนด้วย และรองผอ.โรงเรียนเวลาจะขึ้นตำแหน่งก็ต้องไล่ตามลำดับขนาดโรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง และถ้าจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผอ.โรงเรียน ก็ต้องสมัครเข้ารับการคัดเลือกใหม่ ทั้งนี้ ผมจะเร่งจัดทำร่างดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการ ศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)วิสามัญ ในวันที่11มีนาคมนี้ และเสนอให้ก.ค.ศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่18มีนาคม ” นายพินิจศักดิ์ กล่าวและว่า มาตรฐานการเข้าสู่ตำแหน่งในปัจจุบัน ไม่ได้ห้ามรองผอ.โรงเรียนขนาดเล็ก จะไปเป็นผอ.โรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะต้องพิจารณาความเหมาะสม ถ้าคนที่เป็นรองผอ.โรงเรียน ส่วนใหญ่ก็จะย้ายไปอยู่โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดใหญ่ก่อน เหลือโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ถ้ากำหนดเกณฑ์ใหม่ ก็จะเป็นการล็อคไว้โดยอัตโนมัติ ว่าต้องเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กก่อน รวมถึงจะกำหนดคุณสมบัติการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษาในแต่ละระดับด้วย ว่าจะต้องผ่านโรงเรียนขนาดเล็กก่อน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ได้ผอ.โรงเรียนที่มีคุณภาพมีประสบการณ์ ซึ่งก็จะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพไปด้วย ขณะเดียวกันเนื้อหาการคัดเลือกก็จะต้องเปลี่ยนไป โดยเน้นดูที่ประสบการณ์ ซึ่งนอกจากการทดสอบข้อเขียนทั่วไปแล้ว ยังอาจจะต้องมีการทดสอบประสบการณ์ด้านการบริหารด้วย.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 มีนาคม 2559