ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมบทความการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กปัญหาคุณภาพคนรากหญ้า...สู่ปัญหาชาติ


บทความการศึกษา 23 ก.พ. 2559 เวลา 09:57 น. เปิดอ่าน : 19,584 ครั้ง
Advertisement


Advertisement

ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กปัญหาคุณภาพคนรากหญ้า...สู่ปัญหาชาติ

ผลกระทบจึงเกิดต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและคุณภาพการศึกษาของชาติในภาพรวม หากถามว่าเราปล่อยให้ปัญหาการพัฒนาผู้คนในระดับรากหญ้าอยู่มาถึงวันนี้ได้อย่างไร

การศึกษาไทย...ใช้งบประมาณมาก...แต่คุณภาพด้อยกว่าประเทศอื่น แถมยังมี “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กชนบทกับในเมืองที่เกิดช่องว่างกันมากขึ้น ด้วยเด็กในเมืองมีปัจจัยการเรียนรู้และฐานะครอบครัวที่ดีกว่า ได้เรียนรู้ในโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า ได้กวดวิชาเพิ่มเติม แต่สำหรับเด็กชนบทที่อยู่ตาม เกาะ แก่ง ป่าเขา บนดอย ตะเข็บชายแดน หรือพื้นที่ห่างไกล ปัจจัยความพร้อมดังกล่าวมีน้อยมากโดยเฉพาะโรงเรียนที่เป็นแหล่งเรียนรู้หลักยังขาดความพร้อมปัจจัยในการพัฒนาทุกด้าน ด้วยเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งโรงเรียนลักษณะที่ว่านี้ยังมีอยู่ไม่น้อยกว่า 15,000 แห่ง ที่เด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่าผ่านออกไปโดยที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่

ผลกระทบจึงเกิดต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและคุณภาพการศึกษาของชาติในภาพรวม หากถามว่าเราปล่อยให้ปัญหาการพัฒนาผู้คนในระดับรากหญ้าอยู่มาถึงวันนี้ได้อย่างไร ก็คงตอบแทนได้ว่า ทุกรัฐบาลก็ได้มีการแก้ปัญหาแต่เป็นการแก้ไขไม่ตรงจุดตรงบริบทโดยเฉพาะขาดความจริงจัง ต่อเนื่อง ทั่วถึง เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งไป ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจึงไม่ได้แค่มีอยู่ แต่กำลังจะเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและความยุ่งยากในการแก้ไขมากขึ้น จึงน่าจะต้องถึงเวลามาคิดแก้ปัญหานี้กันอย่างจริงจังเพื่อคุณภาพผู้เรียนของเด็กระดับรากหญ้าและคุณภาพการศึกษาของชาติ เพื่อให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นรูปธรรม จึงขอนำเสนอตัวอย่างแนวทางการบริหารจัดการ ตามบริบทที่ตั้งของโรงเรียน ดังนี้

บริบทแรก คือ กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลตาม เกาะ แก่ง ภูเขา บนดอย ตะเข็บชายแดน หรือพื้นที่พิเศษโรงเรียนตามภูมิศาสตร์ที่ว่านี้แม้จะมีจำนวนเด็กน้อยแค่ไหน ก็คงไปยุบรวมหรือยุบเลิกไม่ได้เพราะจะทำให้เด็กเสียโอกาสด้านการศึกษาหรือออกกลางคันตามมา การแก้ปัญหาหลักก็คงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องสนับสนุนปัจจัยในการพัฒนาให้พร้อมทุกด้าน เพราะการที่จะหวังให้มีเครือข่ายภาคีจากส่วนต่าง ๆ เข้าไปช่วยคงเป็นไปได้ยากหรือไม่ทั่วถึง ด้วยสภาพปัญหาของพื้นที่กับการเดินทาง หรือกรณีหวังให้ชุมชนมาช่วยสร้างความเข้มแข็งเพื่อความยั่งยืนยิ่งเป็นไปได้ยากใหญ่เพราะลำพังประชาชนเองก็เอาตัวไม่ค่อยจะรอด

รัฐจึงต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ในปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงมีวิธีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กตามภูมิศาสตร์และศักยภาพของเด็กเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นด้านมาตรฐานคุณภาพการศึกษา หลักสูตร ตำราเรียน คู่มือครู นวัตกรรม การใช้เครือข่ายการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมทางไกลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดูแลจัดอาหารเช้าและกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ฟรี ปลดล็อกเกณฑ์อัตราส่วนครูต่อนักเรียนเพื่อให้มีครูพอสอนครบชั้น การสรรหาครูและผู้บริหารมืออาชีพเข้าไปพัฒนา ในระยะยาวจะต้องมีสถาบันผลิตครูสำหรับสอนโรงเรียนขนาดเล็กโดยตรง พร้อมมีมาตรการสร้างขวัญกำลังใจทั้งด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน วิทยฐานะให้แก่ผู้ปฏิบัติงานให้ได้รับความก้าวหน้า ไม่ใช่ทุกอย่างใช้เกณฑ์เดียวเหมือนกันทั้งประเทศเช่นปัจจุบันนี้ก็คงไม่ได้

บริบทสอง กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่การคมนาคมสะดวก ชุมชนเมืองหรือตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า กลุ่มนี้น่าจะมีอยู่หลายพันแห่ง ซึ่งเด็กในโรงเรียนภูมิศาสตร์นี้จริง ๆ แล้วน่าจะได้รับโอกาสด้านคุณภาพมานานแล้วเพราะมีทางเลือกด้วยอยู่ในพื้นที่ไม่ยุ่งยากเหมือนกลุ่มแรก หากภาครัฐและชุมชนมีการบริหารจัดการที่ดีร่วมกัน แต่ปัญหานี้ยังมีอยู่ก็เพราะยังมีการยื้อยุดเพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กบริบทนี้ต้องดำรงอยู่ด้วยสารพัดเหตุผล โดยไม่ได้ยึดเอาคุณภาพผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ทั้งที่รู้ว่าความพร้อมการพัฒนายังน้อยเพราะขาดครูผู้สอน การบริหารจัดการเหมือนกับโรงเรียนขนาดใหญ่ทุกอย่าง ครูต้องทิ้งห้องเรียนเพื่อไปร่วมกิจกรรม โครงการ ที่หน่วยเหนือสั่งการจนแทบไม่มีเวลาสอน ที่สำคัญเมื่อโรงเรียนมีจำนวนมาก งบประมาณที่ถูกส่งไปก็กลายเป็นเบี้ยหัวแตกไม่พอกับการแก้ปัญหาและพัฒนา คุณภาพเด็กจึงไม่เกิดตามเป้าหมายของการใช้งบประมาณ ในการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนขนาดเล็กบริบทที่ว่านี้น่าจะมีทางออกได้หลายวิธี อาทิ

จัดเป็นศูนย์เครือข่ายนิติบุคคล บริหารงานในรูปคณะกรรมการ มีผู้บริหารโรงเรียนที่ตั้งศูนย์เป็นประธาน ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในเครือข่ายเป็นคณะกรรมการ ทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายทั้งหมด ส่วนงานประจำหรืองานธุรการให้โรงเรียนที่ตั้งศูนย์ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรเป็นผู้ดำเนินการ หากทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้ครูโรงเรียนขนาดเล็กมีเวลาสอนมากขึ้น รวมถึงจะทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งด้านครู สื่อ และปัจจัยต่างๆ ส่วนเด็กก็จะได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนต่างโรงเรียน เกิดการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น ซึ่งวิธีการนี้เมื่อมีตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนในเครือข่ายว่างลงไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ให้ตัดไปเป็นอัตราครูผู้สอนแทน เพราะมีคณะกรรมการบริหารอยู่แล้ว หากทำได้เช่นนี้คุณภาพผู้เรียนก็จะดีขึ้น ปัญหาครูไม่พอสอนจะลดน้อยลงงบประมาณก็จะถูกนำไปใช้เกิดคุณค่ากับผู้เรียน การเกื้อกูลในเครือข่ายก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

จัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 50 คน ที่ไม่สามารถรวมเป็นศูนย์เครือข่ายได้จะด้วยเหตุใดก็ตาม ส่วนนี้อาจโอนให้หน่วยงานการศึกษาอื่นมาจัดแทน หรือจัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อที่จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยพัฒนาได้มากขึ้น

วิธีสุดท้ายที่จะขอนำเสนอ คือ การยุบรวมหรือยกเลิก สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชุมชนเมืองที่ไม่ได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในศูนย์นิติบุคคล หรือไม่สามารถจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ได้ โดยรัฐต้องจัดค่าพาหนะ ประกันอุบัติเหตุให้ การบริหารจัดการด้วยวิธีการนี้นอกจากจะเกิดผลดีต่อคุณภาพเด็กแล้ว ยังจะทำให้รัฐเหลือปัจจัยไปช่วยพัฒนาเด็กจากโรงเรียนขนาดเล็กในบริบทแรกให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

การบริหารจัดโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณภาพสูงสุดเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่นั้นเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกัน เพราะการที่จะปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแก้ไขอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะโรงเรียนเกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนและในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะให้ได้ผลนั้นจะต้อง รู้ลึก รู้จริง ถึงแก่นแท้บริบทของพื้นที่และมีวิธีการแก้ไขที่สอดคล้องกับปัญหาอย่างตรงจุด ทั่วถึง และต่อเนื่อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำคุณภาพชีวิตคนชนบทกับคนเมืองก็จะลดน้อยลง คุณภาพการศึกษาของชาติก็จะดีขึ้น แต่หากยังปล่อยให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นไปตามยถากรรมต่อไป โอกาสที่จะเห็นผู้คนระดับรากหญ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นประเทศชาติก้าวเดินผ่านพ้นประเทศกำลัง (ด้อย) พัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วก็คงยังยากไกลเกินฝันที่จะเดินไปได้ถึงอยู่อีกแน่.

กลิ่น สระทองเนียม

 

ที่มา: http://www.dailynews.co.th 


ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กปัญหาคุณภาพคนรากหญ้า...สู่ปัญหาชาติ

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

โอเน็ต!ยัง โอเค?

โอเน็ต!ยัง โอเค?


เปิดอ่าน 9,340 ครั้ง
ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (1)

ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (1)


เปิดอ่าน 12,468 ครั้ง
เฉลยข้อสอบอัตนัยด้วย FACEBOOKLIVE

เฉลยข้อสอบอัตนัยด้วย FACEBOOKLIVE


เปิดอ่าน 14,514 ครั้ง
ระบบการศึกษาไม่สมดุล (จบ)

ระบบการศึกษาไม่สมดุล (จบ)


เปิดอ่าน 8,263 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

อ่านกันชัดๆ ที่นี่ "อยากเป็นครู ทำอย่างไร?"

อ่านกันชัดๆ ที่นี่ "อยากเป็นครู ทำอย่างไร?"

เปิดอ่าน 23,286 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ผลิต ใช้ และพัฒนาครูอย่างไร จึงจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพผู้เรียน
ผลิต ใช้ และพัฒนาครูอย่างไร จึงจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพผู้เรียน
เปิดอ่าน 9,987 ☕ คลิกอ่านเลย

Meritocracy กับการศึกษาสิงคโปร์  มูลค่าของความสามารถ
Meritocracy กับการศึกษาสิงคโปร์ มูลค่าของความสามารถ
เปิดอ่าน 10,166 ☕ คลิกอ่านเลย

เราสอบไปเพื่ออะไร?
เราสอบไปเพื่ออะไร?
เปิดอ่าน 22,807 ☕ คลิกอ่านเลย

"หนี้ครู" ปัญหาอมตะคู่แม่พิมพ์ของชาติ
"หนี้ครู" ปัญหาอมตะคู่แม่พิมพ์ของชาติ
เปิดอ่าน 11,627 ☕ คลิกอ่านเลย

"ของเล่นบ้านๆ" สื่อพัฒนาทักษะเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล
"ของเล่นบ้านๆ" สื่อพัฒนาทักษะเด็กปฐมวัยในยุคดิจิทัล
เปิดอ่าน 24,213 ☕ คลิกอ่านเลย

เลิกโทษเด็กนักเรียนได้ไหม? คอลัมน์สุจิตต์ วงษ์เทศ
เลิกโทษเด็กนักเรียนได้ไหม? คอลัมน์สุจิตต์ วงษ์เทศ
เปิดอ่าน 29,069 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เคยได้ยินหรือยัง! "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" กุญแจยกระดับการศึกษาที่คนไทยต้องรู้จัก ให้ผู้เรียนเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
เคยได้ยินหรือยัง! "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" กุญแจยกระดับการศึกษาที่คนไทยต้องรู้จัก ให้ผู้เรียนเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
เปิดอ่าน 6,915 ครั้ง

8 นิสัยที่ฉุดให้การทำงานของคุณย่ำอยู่กับที่
8 นิสัยที่ฉุดให้การทำงานของคุณย่ำอยู่กับที่
เปิดอ่าน 16,622 ครั้ง

10 เหตุผลที่ลดเท่าไหร่น้ำหนักก็ไม่ลงสักที
10 เหตุผลที่ลดเท่าไหร่น้ำหนักก็ไม่ลงสักที
เปิดอ่าน 15,321 ครั้ง

ข้าวหางหรือข้าวนก
ข้าวหางหรือข้าวนก
เปิดอ่าน 18,292 ครั้ง

คอลัมน์: การศึกษา: ถึงคิว...พักงาน(ยาว) "ผอ.สมศ." ปลดล็อก..."ประเมินภายนอกรอบ 4"!!
คอลัมน์: การศึกษา: ถึงคิว...พักงาน(ยาว) "ผอ.สมศ." ปลดล็อก..."ประเมินภายนอกรอบ 4"!!
เปิดอ่าน 29,997 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ