"ดาว์พงษ์" เผยนายกฯ มองละเอียดลึกการประเมินผลงานข้าราชการ ไม่ได้ดูที่ผลงานเด่นอย่างเดียว แต่ต้องให้เพื่อนร่วมงานรักด้วย และต้องดูทั้งไอคิวและอีคิว ไม่ใช่เก่งโดดอยู่คนเดียว รมว.ศธ.ติงการขึ้นสู่ตำแหน่ง ผอ.รร.ควรแก้เกณฑ์พิจารณา ไม่ควรดูที่ผลคะแนนสอบอย่างเดียว
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งเรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการบุคลากรภาครัฐ เพื่อประโยชน์การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล แก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ปราศจากการทุจริต โดยกำหนดประเมินประสิทธิภาพส่วนราชการและข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานประจำ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับแนวทางของรัฐบาลมาปฏิบัติ ซึ่งในส่วนของการประเมินข้าราชการระดับ 10 และ 11 มีกรอบมาแล้วก็ต้องเดินตามนั้น โดยสิ่งที่ ศธ.ต้องทำคือวางกรอบการประเมินข้าราชการระดับ 9 ลงมาจนถึงระดับล่าง ซึ่งตนได้มอบให้สำนักอำนวยการ สำนักงานปลัด ศธ. ไปออกแบบการประเมินทั้งหมด ซึ่งทางสำนักอำนวยการขอเวลา 10 วันที่จะไปออกแบบรายละเอียดการประเมิน จากนั้นจะมาหารือร่วมกับปลัด ศธ.และเลขาธิการองค์กรหลักทุกแท่ง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และนำมาใช้ประเมินโดยเร็วให้สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลกำหนด
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นมิติใหม่ในการประเมินหัวใจหลัก คือเอางานเป็นสำคัญ นำผลงานมาวัด ระบบเส้นสายจะลดลง เพราะถูกฟ้องด้วยงาน ส่วนเรื่องของความโปร่งใสก็มีอยู่ในนั้นแล้ว นายกฯ มองละเอียดลึกไปถึงว่า การทำงานต้องทำให้คนที่ร่วมงานรักด้วย ไม่ใช่ผลงานเด่น แต่คนเกลียดหมด การประเมินจะต้องดูทั้งไอคิวและอีคิว ไม่ใช่เก่งโดดอยู่คนเดียว หัวข้อวิธีการที่จะประเมินต้องตอบโจทย์ทั้งหมด โดยเกณฑ์ประเมินจะต้องทั้งงานประจำ และงานพิเศษที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งในบริบทของงานแต่ละงานก็ไม่เหมือนกัน
รมว.ศธ.กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมาจะใช้ในการประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย ไม่ใช่ประเมินข้าราชการพลเรือนอย่างเดียว โดยขณะนี้กำลังดูทั้งระบบ อีกเรื่องที่ตนเองเฝ้ารอและคิดว่ายังช้า ไม่ทันใจ คือหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งเดิมจะใช้วิธีดูจากวุฒิการศึกษาและวิธีการสอบเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งก็พูดกันแล้วว่า การใช้ข้อสอบ 300 ข้อยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้มาซึ่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เก่ง ดังนั้นเกณฑ์การประเมินใหม่ต้องมีมากกว่าการสอบแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาว่าผู้บริหารสถานศึกษาประสบการณ์ไม่พอ ใครทำข้อสอบได้ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเร็ว และบางคนไม่เคยมีประสบการณ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเล็กมาก่อน ทำข้อสอบได้ ก็ข้ามไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่เลย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบริหารงานตามมา ทั้งหมดนี้ต้องมาดู มาปรับ โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะต้องตอบโจทย์ทั้งหมดนี้ได้ ซึ่งได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปเร่งดำเนินการ และนำมาเสนอในการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งต่อไป.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559
http://www.thaipost.net/?q=เผยบิ๊กตู่จี้ประเมินขรกต้องดูนิสัยด้วย