หลังจากที่ “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” มาสวมบท “ครูหนุ่ย” คุมบังเหียนดูการเรียนการสอนหนังสือของพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ทั้งประเทศ และเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี 6 เดือนกับการทำงานของรัฐบาล
หลังจากที่ “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” มาสวมบท “ครูหนุ่ย” คุมบังเหียนดูการเรียนการสอนหนังสือของพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ทั้งประเทศ และเหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี 6 เดือนกับการทำงานของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทาง “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้มีโอกาสพูดคุยถึงการทำหน้าที่ “ครูใหญ่” ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ ในตำแหน่ง “รมว.ศึกษาธิการ” ว่า เป็นอย่างไรบ้าง
**มองปัญหาของการศึกษาไทยอย่างไร
หลังจากที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง ได้มีการมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นการศึกษาของไทย ที่มีความสำคัญมาก จึงต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาของไทยให้เด็กมีความรู้ อ่านออกเขียนได้ โดยใช้หลักทางพุทธศาสนาเรื่องของ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค เข้ามาจัดปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถจัดเป็นกลุ่ม ๆ ได้ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
2.ครู
3.การทดสอบการประเมิน การประกันคุณภาพและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา
4.ผลิต พัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ
5.ไอซีทีเพื่อการศึกษา และ 6.การบริหารจัดการ
“ก่อนที่จะได้ยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ประการผมนำปัญหาทั้งหมดมากาง ไม่ได้คิดเอง แต่ถามคนใน ศธ.ว่า แต่ละองค์กรมีอุปสรรคหรือปัญหาอะไร นำมารวบรวม จัดระเบียบของปัญหา และการแก้ไข เพราะการแก้ไขปัญหาใน ศธ.จะต้องเชื่อมโยงกับการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เลือกแก้จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ทุกเรื่องทุกปัญหาต้องไปพร้อมกันหมด มันเป็นองค์ประกอบของการจัดคุณภาพการศึกษาให้ดี เร่งด่วนหมดทุกเรื่อง ผมมีเวลา 1 ปี 6 เดือน ถ้าไม่แก้ไปพร้อมกันหมดไม่มีทางทำสำเร็จ หรือจะไม่มีทางได้เห็นรูปร่างของงานที่ทำ ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ผมพยายามที่จะให้เห็นรูปร่าง และเค้าโครงในการเดินหน้า จะเห็นผลชัดเจนในปี 2559”
**หัวใจสำคัญที่สุดของการศึกษาคือ “ครู” จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับครูได้อย่างไร
สิ่งที่ผมต้องแก้ปัญหาก็คือ ต้องให้ “ครู” มีความมั่นคงและความรู้ ทุกวันนี้โรงเรียนทั่วประเทศ 32,000 แห่ง แต่ขาดผู้อำนวยการ 1,000 กว่าแห่ง มีเพียงรักษาการเท่านั้น เป็นเพราะระบบที่ต้องมีการสอบแข่งขัน อีกทั้ง การพิจารณาบรรจุ ผอ.โรงเรียนจะไม่ข้ามเขตกัน การย้ายครูถ้าครูคนไหนไม่ทำเรื่องเสนอย้ายจะไปจับเขาย้ายไม่ได้ ทั้งที่บางโรงเรียนอาจจะมีครูที่ขาดหรือเกิน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นผมจึงต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การพิจารณาบรรจุครูหรือย้ายครู ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)
“ในการแก้ไขปัญหาครู ไม่ว่าจะเป็นโครงการให้ครูเกษียณอายุราชการกลับมาสอน โครงการคุรุทายาท คืนครูให้ท้องถิ่น ส่วนนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ปิดเทอมใหญ่นี้ผมจะต้องมีการประเมินว่า ผลออกมาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ผมจะดูแลในเรื่องสวัสดิภาพของครู โดยเฉพาะครูผู้หญิงที่จบใหม่ๆ แล้วไปอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการมีบ้านพักครูทั้งหมด 4 หมื่นยูนิต แต่ไม่เคยตั้งงบซ่อมแซมบ้านพักครู ผมจึงได้สั่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปทำโครงการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครูทั่วประเทศให้เสร็จภายในปี 2561 ซึ่งใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท โดยในปีนี้ผมได้เกลี่ยงบประมาณจากปี 2559 จำนวน 150 ล้านบาท มาซ่อมแซมบ้านพักครูในต่างจังหวัด จำนวน 1,000 ยูนิต ผมโชคดีที่เลขาธิการแต่ละองค์กรให้ความร่วมมือและเห็นสอดคล้องกัน พิจารณางบแต่ละส่วนอย่างสมเหตุสมผล งบอะไรที่ฟุ่มเฟือยจะถูกปรับไปใช้กับโครงการที่เกิดประสิทธิภาพมากกว่า”
**มีหลักคิดการทำงานในกระทรวง ศธ.อย่างไร
วิธีคิดในการทำงานของผม เมื่อทราบปัญหาด้วยตัวผมเองหรือจากเสียงสะท้อนของสื่อมวลชนหรือนักวิชาการ หรือแม้แต่จากข้าราชการในประทรวง ผมจะกลับมาถามคนที่ทำงานว่า “ปัญหานี้ใช่หรือไม่ แก้ได้หรือไม่” และ “ทำไมถึงไม่แก้” ผมจะต้องได้ประชามติจากคนในกระทรวงก่อน ถึงจะดำเนินการ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ผมจะใช้หลักการบริหารของผมในการแก้ปัญหา ผมต้องฟังและให้ช่วยกันคิด การที่เขาช่วยผมคิด ผมก็ได้ความร่วมมือในการทำงาน ที่ผ่านมาทำงานสำเร็จได้เพราะได้ข้าราชการในกระทรวงช่วยกันคิด ผมมีหน้าที่เติมเต็มและอุดช่องว่างให้กับพวกเขา
**การปรับโครงสร้างใหญ่ของ ศธ.จะเสร็จเมื่อไหร่
จะต้องรอแก้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเท่ากับปรับทั้งระบบรวมถึงโครงสร้าง จากการตรวจเยี่ยมหลายๆ องค์กรพบว่าโครงสร้างปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ที่ผ่านมาร่างกฎหมายต่างๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และอื่นๆ ผมเรียนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปแล้วว่าขอให้ชะลอไว้ก่อน เพราะหาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ออกมา อาจจะมีการให้อำนาจบางอย่างกับอุดมศึกษา ดังนั้น ก็อาจต้องปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาให้สอดคล้องกัน ทั้งหมดต้องเกิดขึ้นภายในปี 2559 ต้องเร่งทำ เพราะรัฐบาลมีเวลาทำงานถึงปี 2560
**มองปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร
เรื่องของการทุจริต ผมบอกลูกน้องเสมอว่า “อย่าวางขนมล่อ” วันนี้เขาไม่หยิบกิน วันอื่นเขาอาจจะหยิบ ดังนั้นเราต้องหยิบขนมเข้าลิ้นชัก เขาจะได้ไม่เจอ เราต้องอุดช่องว่างตรงนี้เสีย ตอนนี้ข้าราชการก็คงต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะต่อไปกำลังจะมีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นมาแล้ว ซึ่งเป็นศาลตั้งขึ้นใหม่ในประเทศไทย จะตัดสินเฉพาะคดีทุจริต มีแค่ 2 ศาลคือชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ดังนั้นการตัดสินจะตัดสินพิจารณาอย่างรวดเร็ว
…..............................
อุบล ชาญปรีชาสมุทร
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 มกราคม 2559