อดีตที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ชี้ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ให้ได้ผลต้องทบทวนหลักสูตรให้เหมาะสม แนะตั้ง สมศ. ดูแลหลักสูตรคู่ประเมิน ด้านที่ปรึกษา สสค. ย้ำเด็กจะพัฒนาต้องบูรณาการเรียนกับกิจกรรมเข้าด้วยกัน
วันนี้ (17 ธ.ค.)ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาเรื่อง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : การศึกษาไทยมาถูกทางแล้วหรือยัง”เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ให้เกิดผลต้องทบทวนหลักสูตรให้มีความเหมาะสมด้วย เช่น ระดับประถมศึกษา ให้มีโครงสร้างเวลาเรียนในชั้นเรียน 600 ชั่วโมง และกิจกรรมนอกชั้นเรียน 400 ชั่วโมง โดยใช้แนวทางการเรียนรู้ด้วยโครงงาน นอกจากนี้ควรจัดตั้งหน่วยงานที่กำหนดหลักสูตร ติดตาม และประเมินหลักสูตร เพื่อให้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยต้องเป็นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งอาจจะแปรรูปสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้ทำหน้าที่ดูแลหลักสูตรควบคู่กับการประเมินก็ได้
ด้าน ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) กล่าวว่า นโยบายลดเวลาเรียนฯ ควรเป็นการบูรณาการการเรียนการสอนกับการทำกิจกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาทุกด้านของเด็กไปพร้อมกัน ไม่ควรจัดแบบแยกส่วนกัน พร้อมกันนี้อยากให้ สพฐ. เน้นการทำงานแบบนักวิชาการ มีปรัชญา และมีหลักการในตีความนโยบายจากฝ่ายการเมืองมาสู่การปฏิบัติ ขณะเดียวกันควรกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนภายใต้นโยบาย ต้องไม่ใช่การสั่งการ
ดร.ราตรี ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนพระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี) กล่าวว่า การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ผู้บริหารและครูต้องวิเคราะห์และเข้าใจหลักการของนโยบาย และนำมาทำให้เกิดความหลากหลายในเชิงปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน โดยเน้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และรู้จักตนเอง.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 ธันวาคม 2558