พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายร่วมกับ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์, นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งคณะทำงานรัฐมนตรี เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุม MOC
จากการที่ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สร 1288/2588 เรื่อง มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการสั่งและปฏิบัติราชการแทน ลงวันที่ 4 กันยายน 2558 โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนงานตามนโยบายนั้น
เพื่อให้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญที่ผ่านมาสัมฤทธิ์ผล เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จนถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาต่างๆ รมว.ศึกษาธิการ จึงได้เชิญ รมช.ศึกษาธิการ รวมทั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงานรัฐมนตรี ร่วมประชุม เพื่อรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การกำกับดูแล ดังนี้
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้างานที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล 13 เรื่อง คือ
- การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เน้นมาตรการในการประกันโอกาส การประกันคุณภาพการศึกษา และประกันประสิทธิภาพการศึกษา และกิจกรรมที่เกิดผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม เช่น การดำเนินงานโครงการ DLTV ในโรงเรียนขนาดเล็ก, DLIT ในโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่, การเรียนวิชาชีพระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย, การให้ครูไม่ทิ้งชั้นเรียนด้วยระบบ TEPE Online
- การปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียน (นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้) ที่มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการในปีแรก 4,100 โรงเรียน มีการจัดกิจกรรมที่รองรับ 4H (Head-Heart-Hands-Health) มากกว่า 390 กิจกรรม การจัดระบบการเป็นพี่เลี้ยงดูแลครูด้วย Smart Trainer และการติดตามประเมินผลทุกระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นในปีนี้ไปปรับปรุงในปีหน้า (รมว.ศึกษาธิการ ได้ขอให้ติดตามผลการสรุป Feedback โครงการ โดยต้องลงลึกในแต่ละประเด็นด้วย เช่น ปัญหาด้านสถานที่ในโรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเท่าใด หรือปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ควรให้ สพฐ.รายงานขึ้นมาว่าแต่ละแห่งขาดอุปกรณ์แบบไหนอย่างไร หรือการดำเนินงานโครงการปีหน้า ควรดำเนินการในโรงเรียนทั้งหมดหรือไม่อย่างไร)
- การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปีงบประมาณ 2558 ได้ดำเนินการจัดการศึกษาแก่สถานศึกษาทุกระดับจำนวน 4,662 แห่ง ครูผู้สอน 77,425 คน ผู้เรียน 1.05 ล้านคน และด้วยมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่มากขึ้น ส่งผลทำให้ครูเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 1 ราย (ปีที่ผ่านมา 6 ราย) ส่วนคุณภาพการจัดการศึกษาในภาพรวมก็สูงขึ้นกว่าปีการศึกษา 2556 ผู้รับการศึกษามีอาชีพมากขึ้น (รมว.ศึกษาธิการ ได้ขอให้การรายงานผลการทำงาน ควรเน้นการบูรณาการกับโครงการอื่นๆ ตามนโยบายด้วย เช่น ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพราะทุกพื้นที่ทั่วประเทศดำเนินการเช่นเดียวกัน อาจจะแตกต่างไปบ้างตามสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่)
- การแก้ไขปัญหาทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และนายพิษณุ ตุลสุข เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อจัดทำและดำเนินการแผนปฏิบัติขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ใน 5 กลยุทธ์ คือ การป้องปรามและป้องกัน, การปราบปราม, การพัฒนาระบบการดำเนินการทางวินัยและคดี, การสร้างกลไกการบริหารงานบุคคลเพื่อป้องกันการทุจริต, การติดตามประเมินผล พร้อมทั้งสำนักงานรัฐมนตรี (สร.) ได้จัดระบบการรับเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ซึ่งขณะนี้มี 619 เรื่อง (รมว.ศึกษาธิการ ขอให้เปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนผู้ถูกร้องเรียนกับอัตรากำลังคนในแต่ละสังกัดด้วยว่าเป็นจำนวนเท่าใด)
- การสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่น การเพิ่มผู้เรียนด้วยการมีมาตรการจูงใจผู้เรียน การปรับภาพลักษณ์ ทวิศึกษา ส่งผลให้ผู้เรียนระดับ ปวช.เพิ่มขึ้นในปีการศึกษานี้เมื่อเทียบกับปีการศึกษาที่ผ่านมาเป็นจำนวน 41,820 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ส่วนระดับ ปวส.เพิ่มขึ้น 8,700 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ : สามัญ เป็น 39 : 61 และตั้งเป้าปีการศึกษาหน้าเป็น 42 : 58
- การจัดการเรียนการสอนทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ ในปีงบประมาณ 2558 ได้มีการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46
- การแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา ได้จัดระบบดูแลช่วยเหลือ มีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งโครงการเตรียมอาชีวศึกษา ตลอดจนจะกำหนดมาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการควบคุมดูแลสถานศึกษาที่ปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้
- การส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน ขณะนี้ได้กำหนดให้มีสถานศึกษาอาชีวศึกษานำร่องเฉพาะทาง 7 แห่ง
- การจัดการอาชีวศึกษาสู่มาตรฐานสากล มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 7 ประเทศในการผลิตและพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษา ในสาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ช่างกลเรือ และการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งจัดทำโครงการยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษแก่ผู้เรียนสายอาชีพ
ด้านการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้มีการจัดประชุมผู้บริหารด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้แนวคิด “การประสานเชื่อมโยงการจัดการอาชีวศึกษา และการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Director Meeting on SEA-TVET : Country-Level Workshop on Harmonization and Mobility) ตลอดจนส่งผู้เรียนไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ มีการประชุมการประชุมคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนและการดำเนินการภายหลังปี 2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2558 ซึ่งได้เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเห็นชอบโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็น Education Hub ในภูมิภาค พร้อมเตรียมเผยแพร่แผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านการศึกษากว่า 5 หมื่นเล่มไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานทั่วประเทศ
- การกระจายโอกาสทางการศึกษาโครงการติวเข้มเติมเต็มความรู้
- การพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาของ กศน.
- การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- การส่งเสริม กศน.ตำบล เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนของ กศน.ตำบล 7,424 แห่ง ใน 77 จังหวัดนั้น จะหารือร่วมกับ รมช.ศึกษาธิการ และสำนักงาน กศน. อีกครั้ง จากนั้นจะให้แนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงาน กศน.ตำบล แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในต้นปี 2559
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้างานที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล 9 เรื่อง คือ
- การยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร ซึ่งได้มีการจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งวางแผนเตรียมการจัดอบรมครูผู้สอนภาษาอังกฤษของไทยจำนวน 500 คน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559 โดยจะใช้ภาษาอังกฤษตลอดระยะเวลาการอบรม ซึ่งจะทำให้ครูผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีแนวคิดและแนวทางการสอนภาษาอังกฤษเพื่อนำไปพัฒนาการสอนในชั้นเรียนได้ (Supercharge) จากเทรนเนอร์ (Trainer) ที่เป็นเจ้าของภาษา (Native Speakers) จำนวน 50 คน ซึ่งมาจาก British Council และหน่วยงานอื่น ที่สำคัญ เทรนเนอร์ชาวต่างประเทศทั้ง 50 คน จะต้องมีประสบการณ์ในการสอนและฝึกอบรมในประเทศต่างๆ มาแล้ว (Hi-end Trainers) และภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมจะทำการคัดเลือกผู้เข้าอบรมเฉพาะ 50 ลำดับแรก (Top 50) จาก 500 คน เพื่อนำมาฝึกอบรมกับเทรนเนอร์ และพัฒนาให้ครูกลุ่มนี้เป็นเทรนเนอร์ให้กับผู้เข้าอบรมรุ่นต่อไปในอนาคต
- การแปลงกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ ที่ได้มีการหารือกับ ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ "โรงเรียนคุณธรรม" ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีความเป็นสากล สามารถนำไปปรับใช้ได้กับสถานศึกษาทุกภาค ทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนา ในเบื้องต้นมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. 367 แห่ง จาก 3,800 โรงเรียน ยินดีจะเข้าร่วมโครงการในปีแรก ก่อนขยายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ และต่อไปจะกำหนดให้โรงเรียนคุณธรรมเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด (Key Performance Indicators : KPI) ในการประกันและการประเมินคุณภาพภายใน (Internal Quality Audit : IQA) ของกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ตามไม่ได้กำหนดให้มีรูปแบบ (Model) ของโรงเรียนคุณธรรมนี้เพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น แต่ละสถานศึกษาอาจใช้รูปแบบวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมในการสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นกับนักเรียน เพียงแต่ขอให้มั่นใจว่ารูปแบบใดๆ จะรับประกันการมีคุณธรรมของนักเรียนได้
- การปฏิรูปการศึกษา ได้มีการปฏิรูประบบประเมินและประกันคุณภาพการศึกษา โดยได้กำหนด Roadmap ในการปฏิรูประบบการประเมินคุณภาพและประกันคุณภาพการศึกษา คือ ภายใน 3 เดือนนี้ จะต้องดำเนินการเรื่องตัวชี้วัด (Key Performance Indicators: KPI) ให้เสร็จสิ้น อีก 3 เดือนถัดไป ก็จะทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและ สมศ. เพื่อให้ตัวชี้วัดและวิธีการประเมินไปแนวทางเดียวกัน จากนั้นใน 3 เดือนสุดท้าย จะเป็นกระบวนการทดสอบระบบการประเมินดังกล่าว
- การลดภาระงานหรือกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนของครู โดยจะได้จัดพิมพ์แผนการสอนกลาง เพื่อแจกจ่ายให้กับครูฟรี รวมทั้งปฏิรูปการประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่ควรลดงานทางด้านกระดาษลง หรือรูปแบบการประเมินที่เพิ่มภาระให้กับครูมากจนเกินไป รวมทั้งกำหนดให้มีแนวทางการจัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ จากหน่วยงานภายนอกรวมกัน ภายในช่วงระยะเวลาก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อไม่ให้เป็นภาระในชั้นเรียนช่วงเปิดเทอม
- การสอนให้เด็กคิดเป็น โดยมีแนวทางดำเนินการ เช่น โครงการครูสอนคิด (CEP), การกำหนดนโยบายให้ปีการศึกษา 2559 สทศ.จะเริ่มออกข้อสอบ O-NET เป็นอัตนัย เริ่มจากวิชาภาษาไทยที่จะเริ่มใช้ข้อสอบอัตนัยร้อยละ 20 เพื่อให้เด็กได้ฝึกการคิดวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น, การให้ สสวท.ออกข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนได้เขียน อธิบายเหตุผลและวิธีการต่างๆ มากขึ้น, การเตรียมความพร้อมการสอบ Non Cognitive Testing โดย OECD-สสค.-สพฐ.-สสวท.
- การประเมินเพื่อมีหรือเลื่อนวิทยฐานะให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยกำหนดให้ใช้ร้อยละของนักเรียนที่สอบผ่านขีดจำกัดล่างเป็นเกณฑ์, และใช้สมุดบันทึก 3 ด้านของครู คือ จริยธรรม ความรู้ และการปฏิบัติงาน เป็นส่วนสำคัญต่อการประเมินดังกล่าวด้วย
- มหาวิทยาลัยเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังปัญหาความต้องการของอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 38 แห่ง พร้อมทั้งได้ให้นโยบายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีความเป็นเลิศโดดเด่นในสาขาวิชาที่ผลิตแตกต่างกันไป รวมทั้งการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่ผู้เรียน เป็นต้น
- มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียน โดยให้มหาวิทยาลัยมีส่วนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่ผู้เรียน การส่งเสริมพัฒนาเทคนิคการสอนโดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจัดทำคู่มือ/เทคนิค/ยุทธศาสตร์การสอน สำหรับครูผู้สอนในแต่ละวิชา เพื่อให้ครูผู้สอนในโรงเรียนประถม-มัธยมศึกษาใช้เป็นคู่มือแนวทาง (Manual) จัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ เช่น การเรียนการสอนในชั้นเรียนผ่าน DLTV ครูผู้สอนควรคุมห้องอย่างไร หรือมีเทคนิคการสอนเพิ่มเติมอย่างไร, การรู้จักจิตวิทยาของเด็กในแต่ละช่วงวัย เป็นต้น
นอกจากนี้ ให้จัดการศึกษาตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาว่า ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู, ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่แข่งกับตัวเอง, ให้เด็กที่เก่งกว่าสอนเพื่อนที่ช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี และควรให้นักศึกษาที่จะจบสาขาวิชาครุศาสตร์ มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ส่งเสริมนักศึกษาให้มีความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการศึกษา เช่น นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้, การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV), ทวิศึกษา, สะเต็มศึกษา, BBL (Brain-based Learning), การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย ฯลฯ เพื่อสร้างความพร้อมก่อนที่จะออกไปเป็นครูผู้สอน ตลอดจนสร้างนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏให้มีความประพฤติเรียบร้อย มีกิริยามารยาทที่ดี ไหว้สวย
- มหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศเฉพาะทาง โดยมีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ คือ การส่งเสริมสนับสนุนมหาวิทยาลัยวิจัยก้าวไปสู่การเป็น World Class University, การฝึกอบรมครูก่อนประจำการ (Preservice Training) ซึ่งได้ร่วมมือกับสถานทูตฟินแลนด์ในการจัดหลักสูตรอบรมครูผู้สอนของไทย, จัดระบบแรงจูงใจ (Incentive) ให้กับคณะที่ผลิตนักศึกษาที่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ, การแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา, ปรับบทบาท สกอ.ต่อการกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา
ในส่วนของความก้าวหน้างานที่ นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล 4 เรื่อง คือ
1) การขับเคลื่อนโครงการอบรม/สัมมนาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
2) การนำ ICT มาใช้ในการบริหารงานอย่างทั่วถึงมีประสิทธิภาพ
3) การส่งเสริมด้านสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
4) การอำนวยการเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะได้มีการประชุมหารือร่วมกันในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ฝากให้คณะทำงานรัฐมนตรี เป็นตัวเชื่อมในการทำงานร่วมกับองค์กรหลัก/หน่วยงานในกำกับ/องค์การมหาชน ตามนโยบายสำคัญอื่นๆ ด้วย คือ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าควรดำเนินการต่อไปหรือไม่, การปฏิรูปหลักสูตรแกนกลาง, คูปองการศึกษา, การจ่ายเงินตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ, ใบประกอบวิชาชีพครู และการแก้ปัญหาการสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า แนวทางการทำงานในปัจจุบัน ยังคงเน้นการขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานแบบ Hit the Point : งานทุกงานต้องฉีกปัญหาให้ขาด ตีโจทย์ให้แตก ตลอดจนหากิจเฉพาะและกิจแฝงให้เจอ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด, แบบ Dynamic : การขับเคลื่อนงานตลอดเวลา หยุดไม่ได้ เมื่อมีการสั่งงานไปแล้ว จะไม่หยุดนิ่งอย่างแน่นอน จะขับเคลื่อนงาน ดูแล และช่วยแก้ปัญหา หากงานนั้นต้องข้ามแท่ง ก็จะต้องข้าม อย่าไปหยุดและจะไม่มีหยุด, แบบ Lively : การทำงานแบบมีชีวิตจิตใจ ซึ่งการจะทำงานแบบนี้ได้ ผู้ร่วมงานต้องมีความเข้าใจเนื้องานตรงกับเรา จึงพยายามที่จะสร้างให้ทุกคนเข้าใจเนื้องานที่จะทำ สร้างให้เห็นประโยชน์ร่วมกันกับสิ่งที่กำลังทำ เมื่อเข้าใจตรงกันและเห็นประโยชน์ร่วมกัน เราก็จะมีความสุขที่จะทำ เพราะใจเราจะไม่ต่อต้าน ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข และจะมีชีวิตจิตใจในการทำงาน (อ่านเพิ่มเติม www.moe.go.th/websm/2015/aug/284.html)
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 2 ธันวาคม 2558