โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
ครับ ปฏิรูปการศึกษา ผ่าตัดโครงสร้างกระทรวง ศธ.ยังมีแง่มุมที่น่ามีส่วนร่วมสานเสวนากันต่อ
ตั้งแต่ข้อเสนอโมเดลปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯกลับไปสู่ของเก่า ต้นทางที่มาของความคิดและกระบวนการจัดทำมาจากไหน
ถ้าย้อนรอยตามรายงานของคณะกรรมาธิการด้านการศึกษาสภาปฏิรูปแห่งชาติจนถึงคณะกรรมการสังเคราะห์ภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศวางโรดแมปการปฏิรูปไว้ดังนี้
2560 ปฏิรูปเร็วในเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงกับเด็ก/ครู (หลักสูตร/ตำรา/การวัดผล ฯลฯ) นำร่องการจัดการเชิงพื้นที่ในจังหวัดที่พร้อม ตั้งกรรมการนโยบายและเตรียมจัดทำ/แก้ไขกฎหมายทำ Roadmap ทุกๆ ด้าน
เตรียมแผนปรับโครงสร้าง/อัตรากำลังกระทรวงศึกษาธิการ
จัดลำดับการปรับโครงสร้างไว้หลังสุด และไม่มีรายละเอียดว่าจะปรับเปลี่ยนประเด็นหลักตรงไหน อย่างไร
รากความคิด ปฏิรูปโครงสร้างมาจากแนวคิดดังกล่าวเป็นแรงผลักดัน ทำให้มีการออกแบบใหม่ดังปรากฏแผนภูมิออกมาภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนาการศึกษา หรือไม่ก็ตาม นอกจากสร้างความฮือฮาแล้วยังทำให้หวั่นไหวไปในเวลาเดียวกัน
หรือมีหน่อมาจากกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา สมัย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและเป็นประธาน
หรือเป็นของคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหรือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการยุครัฐมนตรีใหม่
ผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากยังไม่ชัดเจน
และไม่ว่าจะเป็นงานเดิมที่ทำกันมาก่อนหรือเป็นข้อเสนอจากสภาปฏิรูป คณะผู้บริหารใหม่เพียงแต่นำมาบูรณาการสานต่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ในฐานะผู้เสนอกระทรวงศึกษาธิการมิอาจปฏิเสธความเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ไปได้แน่นอน
ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังจะเป็นไปเช่นไร เดินหน้าหรือถอยหลัง เป็นบวกหรือลบมากกว่า ซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาต้องรับไปเต็มๆ เช่นกัน
การหวนกลับมาสู่แนวโน้มการบริหารที่มุ่งรวมศูนย์การสั่งการจากส่วนกลาง ปรับเปลี่ยนการบริหารในรูปแบบองค์คณะบุคคลที่ผ่านมา เป็นสัญญาณหมดยุคการทำงานในแนวราบกลับเข้าสู่แนวดิ่งอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งสะท้อนอีกด้านหนึ่งว่า การบริหารโดยองค์คณะบุคคลมีจุดอ่อน ถึงไม่สามารถผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาบรรลุผลเท่าที่ควรได้
นอกจากประเด็นโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯใหม่หรือเก่าก็แล้วแต่ แล้วโมเดลซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ก็ยังมีคำถามถึงความไม่มั่นใจดังให้ได้ยินอยู่เป็นระยะว่าเป็นแนวทางแก้ปฏิรูปการศึกษาถูกทางหรือไม่
เจตนารมณ์หลักของการมีกลไกนี้เพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศรายได้สูง
อำนาจหน้าที่ทางการมี 3 ประเด็นใหญ่ คือ
1.เสนอแนะนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตามนโยบายรัฐบาลและแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2.เสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการตัดสินใจเชิงรุกเพื่อให้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาเกิดผลเป็นรูปธรรม
3.กำกับ ดูแล ติดตาม ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายและการพัฒนาการศึกษา
ภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ก็คือเพื่อวางแนวทางบริหารการศึกษาและกำลังคนของรัฐให้สอดรับกัน ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางนโยบายการศึกษา การผลิตและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองต่อระบบการศึกษา
ทั้งนี้ มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขาธิการ ต่อมาจึงให้ร่วมกับเลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำวิสัยทัศน์ทางการศึกษาปี 2015-2020 โดยย้ายสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติกลับไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ครับ ประเด็นมีว่าบทบาทของฝ่ายเลขาธิการมีส่วนสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อนงานเพราะที่ผ่านมาเคยมีเสียงสะท้อนในวงเสวนาการศึกษาบ่อยครั้ง "ที่เศรษฐกิจไทยถดถอย เติบโตต่ำสุดในอาเซียน เพราะก้าวพลาด วางแผนและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจผิด น่ายุบสภาพัฒน์ทิ้งเสีย"
ฝ่ายวงเสวนาทางเศรษฐกิจโต้ว่า "ที่การศึกษาไทยด้อยคุณภาพ มีปัญหามากมาย ใกล้ติดอันดับบ๊วยของโลก เพราะวางแผนและดำเนินนโยบายปฏิรูปผิดพลาด น่าจะยุบสภาการศึกษามากกว่า"
ต่างฝ่ายต่างโทษกันไปโทษกันมากล่าวหาอีกฝ่ายเป็นจำเลย
สุดท้ายมาลงที่ฝ่ายนโยบาย ขาดวิสัยทัศน์ ไร้ทีมงาน ขาดความต่อเนื่อง สร้างคะแนนนิยม มุ่งผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าแก้ปัญหาการศึกษาอย่างถูกต้อง
ฉะนั้น ถ้ายังคงยืนยันว่าควรมีซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาต่อไป ประเด็นที่ต้องตอบให้ชัดก็คือ จะมีทิศทางการดำเนินงานไปทางไหน
ที่มา: มติชนรายวัน 26 พ.ย.2558