ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีมีบทบาทมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสาร การจัดซื้อจัดจ้างหรือการจัดการเรียนการสอน ค่านิยมของคนในประเทศไทยมีนิสัยชอบเลียนแบบ ถ้าเพื่อนมีมือถือหรือรถใหม่ก็อยากมีตามเพื่อน ประกอบกับความเจริญ ทางนวัตกรรม เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้บุคคล หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องดิ้นรนติดตาม ให้ทันสมัย นอกจากสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ส่งผลต่อ พฤติกรรมแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการที่อาจทำให้ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ อาทิ กฎระเบียบ หรืออุปนิสัย หรืออาจเป็นเพราะยังไม่มีความรู้ หรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับจรรยาบรรณของวิชาชีพ จึงเสนอกรณีตัวอย่างของการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา ดังนี้
การประพฤติผิดจรรยาบรรณต่อตนเอง
-ผู้ประกอบวิชาชีพครู อาสาช่วยเหลืองานวัดเก็บรักษาเงินในงานผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต หลังเลิกงานฝังลูกนิมิตทุกคืน ผู้ประกอบวิชาชีพครูได้นำเงินจากการขายดอกไม้ ธูปเทียนและ ทองมานับตามปกติเพื่อมอบส่งให้เจ้าอาวาสวัด ในระหว่างนับเงิน ผู้ประกอบวิชาชีพครูได้ถือโอกาสนำเงินที่ประชาชนบริจาค บางส่วนใส่กระเป๋ากางเกงตนเอง ซึ่งทางวัดได้ใช้กล้องวงจรปิดจับ ภาพ นำไปให้สื่อมวลชนลงทางสื่ออินเตอร์เน็ต คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต จึงมีความผิดฐาน ลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเงินบริจาคโดยประชาชนที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมกัน บริจาคทำบุญให้แก่วัด พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของประชาชน และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่ศิษย์หรือผู้รับบริการหรือประชาชน รวมทั้งเสียชื่อเสียงขององค์กร วิชาชีพอันเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณต่อตนเองและ จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ตามมาตรา 50 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 จึงมีมติให้เพิกถอน ใบประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพครูดังกล่าว
การประพฤติผิดจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
-กรณีผู้ประกอบวิชาชีพครูเล่นการพนันไพ่ป๊อกแปด-เก้า อันเป็นการพนันห้ามขาดตามบัญชี ก อันดับที่ 11 ท้ายพระราชบัญญัติ การพนัน พ.ศ. 2478 ศาลพิพากษาให้จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นการกระทำที่กระทบต่อการประกอบวิชาชีพอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ต่อตนเอง และผิดจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ตามมาตรา 50 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 จึงมีมติให้พักใช้ใบประกอบวิชาชีพ เป็นเวลา 5 ปี
การประพฤติผิดจรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
-กรณีผู้ประกอบวิชาชีพครูลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงด้วยการตีไม่มีเหตุผล จับแก้ม ลูบมือ ลูบแขนเด็กหญิงใช้คำพูดไม่เหมาะสมกับศิษย์ ข่มขู่ผู้ปกครองนักเรียน ไม่เตรียมการสอน สอนไม่จบหลักสูตร ไม่ครบบทเรียน มีบุคลิกภาพ ไม่เหมาะสมกับการประกอบวิชาชีพครู เช่น นั่งยกขาวางบนเก้าอี้นั่ง ระหว่างการสอน แต่งกายสกปรก รับประทานอาหารระหว่างสอนนักเรียน คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ต่อวิชาชีพ และจรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ ตามมาตรา 50 (2) (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 จึงมีมติให้พักใช้ใบประกอบวิชาชีพ เป็นเวลา 1 ปี
การประพฤติผิดจรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
-กรณีผู้ประกอบวิชาชีพครู 2 ราย ได้ร่วมมือกันทำร้ายผู้ประกอบวิชาชีพครูด้วยกันโดยการชกที่ใบหน้า 1 ครั้ง และเตะที่หน้าอก 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพครูต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ รักษาความสามัคคีในหมู่คณะ แต่ผู้ประกอบวิชาชีพครูทั้ง 2 ราย กลับทำร้ายเพื่อนครูด้วยกัน เป็นการประพฤติผิด จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ ตามมาตรา 50 (4) พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 จึงมีมติให้ภาคทัณฑ์
การประพฤติผิดจรรยาบรรณต่อสังคม
-กรณีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ร่วมกับพวกบุกรุกแผ้วถางป่าและตัดไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูพาน โดยมี ไม้ประดู่และไม้แปรรูปในครอบครอง และอ้างตัวเป็นเจ้าของที่ดิน คดีมีมูลการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ อยู่ระหว่างการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ
คุรุสภาสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา Call Center : 0-2304-9899 www.ksp.or.th
ใบอนุญาตประกอบว6ชาชีพทางการศึกษามีอายุใช้ได้ 5 ปี และจะต้องขอต่ออายุใบอนุญาตก่อน วันที่ใบอนุญาตจะหมดอายุไม่น้อยกว่า 180 วัน
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 26 พ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)