การสรรหาผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ
การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้เด็กไทย ในสภาวการณ์ปัจจุบันยังมีเด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอยู่บนเขา อยู่ในเกาะ หรืออยู่ระหว่างรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังขาดแคลนบุคลากรเข้าไปทำงานในพื้นที่ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ก.ค.ศ. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความตระหนัก และมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเหล่านี้ ก.ค.ศ. จึงเห็นชอบให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสรุปสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ ดังนี้
1) สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ หมายถึง สถานศึกษาตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประกาศ โดยให้คำนึงถึงพื้นที่ที่เป็นเกาะ หรือบนภูเขาสูง หรือหุบเขา หรือเชิงเขา ที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใดๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเหตุอื่น โดยอาจนำประกาศของกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา
2) ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แจ้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาเพื่อประกาศให้เป็นสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ก่อนการดำเนินการคัดเลือกในแต่ละครั้ง โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดองค์ประกอบในการพิจารณากำหนดเป็นสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ
3) การดำเนินการคัดเลือก ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ประกาศรับสมัครคัดเลือก โดยระบุชื่อสถานศึกษาที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง และกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการคัดเลือก
4) ให้ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก สมัครเข้ารับการคัดเลือกในสถานศึกษาได้เพียงแห่งเดียว ภายในเขตพื้นที่การศึกษานั้น หากสมัครเกินกว่า 1 แห่ง จะตัดสิทธิ์การคัดเลือกทั้งหมด
5) ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ดำเนินการคัดเลือก โดยการประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ประวัติและประสบการณ์ ด้านที่ 2 ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาและผลงานที่ภาคภูมิใจ ด้านที่ 3 แนวคิดในการพัฒนาสถานศึกษาที่สมัครคัดเลือก และด้านที่ 4 สัมภาษณ์
6) ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องผ่านการประเมินทุกด้าน โดยได้คะแนนในแต่ละด้านไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ เรียงลำดับจากผู้ได้คะแนนรวมสูงสุดจากมากไปหาน้อย
7) ให้บรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกที่มีคะแนนสูงสุดและมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่ง และผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยไม่มีการขึ้นบัญชี หากไม่มารายงานตัวตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์
8) ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
จากการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษไม่ขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา และสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายละเอียดตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว7 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558