คอลัมน์ : ส่องการศึกษาไทย : หลักเกณฑ์ฯ เลื่อนวิทยฐานะครูใหม่ : ยิ่งแก้ ยิ่งวน
ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา
ตามที่ทราบข่าวการประชุมของคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงพัฒนางานเลื่อนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวใหม่ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
ที่ประชุมมีความเห็นว่า...การทำเอกสารรวบรวมผลงานครู ควรให้ครูทำเป็นกิจวัตรตั้งแต่เริ่มเป็นครู วิทยฐานะขั้นต้นคือชำนาญการ จะมีเวลารวบรวมผลงานถึง 8 ปี ถ้าหากครูท่านใดมีผลงานทดสอบทางการศึกษาระดับชาติสูงกว่าค่าเฉลี่ย สามารถขอชำนาญการพิเศษได้
ส่วนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ จะต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กมีคุณภาพที่ดี และมีผลงานที่เป็นนวัตกรรม หรืองานวิจัยใหม่ๆ ด้วย
ซึ่งทั้งปวงนี้ เป็นข้อตกลงในหลักการเบื้องต้น ซึ่งคณะทำงานต้องไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่า ในการขอวิทยฐานะแต่ละระดับ จะต้องใช้ผลงานอะไรบ้าง ขนาดไหน
เท่าที่ทราบกันดีว่า...คณะทำงานชุดนี้ มีหน้าที่ปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ ให้มีความเหมาะสมกับนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อครั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการท่านใหม่เข้ารับตำแหน่ง
ทั้งๆ ที่หลักเกณฑ์ฯ ชุดนี้ได้ประกาศออกมาใช้แล้วเมื่อ 11 พฤษภาคม 2558 และมีการเตรียมการทดสอบภาคความรู้ในเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา
แต่เมื่อรัฐมนตรีท่านใหม่เข้าทำงานเห็นว่า หลักเกณฑ์ฯ ชุดนี้ยังไม่เหมาะสม จึงมีคำสั่งให้เลื่อนการใช้ไปก่อน ในคราวประชุมเมื่อ 24 กันยายน 2558 และแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้นมาปรับปรุงภายใน 2 เดือน
ซึ่งขณะนี้ ระยะเวลาก็ผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว ความคืบหน้าของการทำงาน เพิ่งจะตกลงกันได้เพียงหลักการเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอีกเมื่อไหร่ไม่ทราบ
ความจริงแล้ว หลักการเกี่ยวกับวิทยฐานะครูนั้น ได้ปรากฏในเจตนารมณ์และรายละเอียดในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเป็นวิชาชีพควบคุม เพื่อให้เป็นหลักประกันและคุ้มครองให้ผู้รับบริการทางการศึกษาได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งจะเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาให้สูงขึ้น
และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ. 2547 มาตรา 39 ให้ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ ได้แก่
(1) ครูชำนาญการ (2) ครูชำนาญการพิเศษ (3) ครูเชี่ยวชาญ (4) ครูเชี่ยวชาญพิเศษ ฯลฯ นอกจากนี้ ก.ค.ศ. ยังได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะแต่ละวิทยฐานะไว้แล้ว
สิ่งเหล่านี้ ใช้เป็นกรอบในการสร้างหลักการได้ ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งคิดทบทวน โดยใช้ความเห็นเฉพาะตน ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่พ้นจะต้องยึดหลักการที่มีอยู่แล้ว
ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ก็เพียงตีโจทย์ว่า ทำอย่างไรวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา (Intellectual Method) ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างเพียงพอ (Long Period of Training) มีอิสระในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Autonomy) และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ (Professional Ethics)
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 20 - 26 พ.ย. 2558