รศ. นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งพัฒนาระบบการสรรหา และการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ เมื่อวันพุธที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น ๒ กระทรวงศึกษาธิการ
โดยประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า จะต้องเร่งสรุปการประชุมครั้งนี้ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาต่อไป และทั้งนี้ที่ประชุมได้รับรองการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคมที่ผ่านมา และกำหนดประเด็นปัญหาและสรุปเป็นข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษา แบ่งเป็น ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านบริหารงานบุคคล และด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
- ด้านการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา
๑) แผนปรับปรุงการผลิตครูเชิงปริมาณ ได้แก่ การจัดทำแผนความต้องการครู ราย ๑๐ ปี (๒๕๕๙-๒๕๖๘) และราย ๑๕ ปี (๒๕๕๙-๒๕๗๓)
๒) แผนยกระดับคุณภาพการผลิตครู ได้แก่ โครงการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพมาตรฐานคุณวุฒิ และระบบการควบคุมการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และโครงการคุรุทายาท
- ด้านการบริหารงานบุคคล
๑) การวางแผนยุทธศาสตร์และข้อมูลสารสนเทศ
๒) การพัฒนากรอบอัตรากำลัง
๓) การสรรหา บรรจุและแต่งตั้งการเปลี่ยนตำแหน่ง/ย้าย/โอน
๔) การประเมินวิทยฐานะ
๕) ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
๖) การเสริมสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และ ๗) การตรวจสอบ ติดตามการใช้อำนาจ และการประเมินผล
- ด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
๑) การพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน ๒๐ คน ด้วยการจัดโครงการพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน (จำนวน ๑,๐๕๙ โรง)
๒) โครงการการพัฒนาครูที่สอนไม่ตรงวิชาเอกในรูปแบบต่อยอดและเชื่อมโยง ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ๗,๐๖๘ โรงเรียน จำนวน ๓ รายวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
๓) โครงการพัฒนาครูที่สอนมากกว่า ๑ ห้องเรียน ซึ่งมีสภาพปัญหา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ผู้เรียนขาดคุณภาพ จำนวนโรงเรียน ๑๒,๓๙๓ โรงทั่วประเทศ
ทั้งนี้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในโอกาสนี้ว่า การแก้ไขปัญหาด้านการบริหารงานบุคคล เห็นชอบควรให้สภาการศึกษา และ ก.ค.ศ. (ร่าง) กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล สำหรับข้าราชการครูและบุคลการทางการศึกษาขึ้นใหม่ ภายในระยะเวลาดำเนินการ ๑ เดือน เพื่อปรับปรุงให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ส่วนด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ควรมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ในเขตพื้นที่ โดยพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เป็นทีม Coaching, Mentoring พัฒนาร่วมกับเขตพื้นที่ และทำ R&D หรือ Action Research ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อให้ได้รูปแบบการพัฒนาของสถานศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อได้ผู้เรียนที่มีคุณภาพตามต้องการ
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 28 ตุลาคม 2558