สมาคมฯ ร.ร.อนุบาล รับแม่งานฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพภาษาอังกฤษ จับมือ พว. - ม.เคมบริดจ์ ชู 3 เทคนิค การสอนภาษาอังกฤษประสิทธิภาพสูง
นายสำเริง กุจิระพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา และนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมฯร่วมกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) และสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จัดอบรมเรื่องเทคนิคการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในปัจจุบันภาพรวมโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดส่วนใหญ่มีคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว หาก พว. จะเข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเริ่มจากโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดก่อนที่จะขยายผลไปยังโรงเรียนอนุบาลระดับอื่น ๆ ต่อไป
นายศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว. กล่าวว่า การร่วมเมือครั้งนี้เพื่อร่วมกันพัฒนายกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ได้มาตรฐานตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 หลักสูตรสถานศึกษา และพัฒนาศักยภาพผู้เรียนที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยจะจัดทำยุทธศาสตร์ในการบริหารพัฒนาเด็กไทยให้มีศักยภาพ โดยมีสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเป็นแม่ข่ายและเป็นผู้นำในการยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ในสถานศึกษา ให้ได้มาตรฐานควบคู่กับประเทศชั้นนำในประชาคมอาเซียนและสากล
“การอบรมครูผู้สอนภาษาอังกฤษนั้น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้สอดคล้องกับหลักสูตรของประเทศไทยอย่างมีระบบ และแบบแผนที่ถูกต้องจากเจ้าของภาษา ช่วยครูผู้สอนให้มีทักษะด้านภาษาต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ” นายศักดิ์สิน กล่าว
นายเกรก เรย์มอนด์ ครูสอนภาษาอังกฤษ กล่าวว่า เด็กไทยใช้เวลาเรียนการศึกษาภาคบังคับมากกว่า 10 ปี แต่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนของไทยจะเน้นการสอนให้เด็กท่องจำเป็นหลัก อีกอย่างเด็กมองว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องน่ากลัว ทำให้เกร็ง และเครียด ไม่กล้าที่จะพูดออกมา
ดังนั้น เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพเกิดทักษะการอ่านออกเขียนได้มี 3 รูปแบบ ได้แก่
1. Phonics (โฟนิกส์) คือ การออกเสียง และการฟัง อย่างถูกต้อง
2. Total Physical Response (TPR) การสอนโดยใช้ภาษาร่างกาย ท่าทางประกอบ และ
3. Observation การสอนโดยใช้การสังเกตจากประสาทสัมผัส เช่น การมอง การสัมผัส การฟัง การดมกลิ่น การจับ การชิม
ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบเป็นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยครูผู้สอนต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดเวลา ห้ามแปลเป็นภาษาไทยให้เด็กฟัง เพื่อต้องการให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นเคยและมองว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาในชีวิตประจำวัน
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 ตุลาคม 2558