คอลัมน์ QA การศึกษา: โฉมใหม่เกณฑ์ประเมินภายนอกรอบ 4 "เดินหน้าเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย"
นับตั้งแต่ปี 2554 ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานอิสระจากภายนอก ตรวจประเมิน สถานศึกษาทุกระดับ เพื่อรายงานผลการพัฒนา คุณภาพการจัดการศึกษา สำหรับนำไปใช้เป็น ข้อมูลในการวางแผนพัฒนาและปรับปรุง สถานศึกษาให้มีคุณภาพ รวมทั้งให้พ่อแม่ ผู้ปกครองใช้พิจารณาส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อ ในสถานศึกษาที่มีมาตรฐาน ซึ่งตลอดระยะ เวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา สมศ.ได้ดำเนินการประเมิน คุณภาพสถานศึกษามาแล้ว 3 รอบ ครอบคลุมสถานศึกษา 60,000 แห่งทั่วประเทศไทย
สำหรับเกณฑ์ประเมินรอบ 4 ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2559 - 2563 นั้น ผมขอเรียนว่า สมศ. ได้นำเอาคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากทุกภาคี เครือข่าย ทั้งจากครูอาจารย์ผู้สอนซึ่งถือเป็น ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประเมินที่มีประสบการณ์ตรง และจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีความเกี่ยวข้องในทางอ้อม พัฒนาระบบประเมินในรอบนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งเน้นการลดภาระของสถานศึกษา และอำนวยความสะดวกการประเมินให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ภายใต้นโยบาย "ลดภาระ สร้างสรรค์ กัลยาณมิตร" โดยแบ่งการประเมินออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
รูปแบบที่ 1 การประเมินเพื่อพัฒนาเป็นการประเมินสถานศึกษาตามการประกันคุณภาพภายในโดยหน่วยงานภายนอกที่เป็น กลาง ซึ่งทุกสถานศึกษาต้องเข้าร่วมตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 49 การประเมินรูปแบบนี้ทุกสถานศึกษาต้อง ส่งข้อมูลรายงานการประเมินตนเอง และข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษาที่ผ่านการรับรองจาก ต้นสังกัด และเห็นชอบจากกรรมการสถานศึกษา หรือสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้ สมศ. พิจารณาข้อมูลและประเมินเพื่อจัดกลุ่มสถานศึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อสถานศึกษาและต้นสังกัด นำไปใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพต่อไป
รูปแบบที่ 2 การประเมินแบบรับรองมาตรฐาน เป็นการประเมินตามความสมัครใจ ของสถานศึกษา โดยเน้นการเทียบเคียงมาตรฐานระดับสากล เพื่อยกระดับสถานศึกษา ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยสถานศึกษา สามารถเลือกรูปแบบการประเมินเพื่อขอรับรองได้ตามความสมัครใจใน 2 รูปแบบ คือ
1.รับรองมาตรฐานขั้นพื้นฐาน (Basic Standard) เพื่อ ส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด แบ่งเป็นการประเมินทั่วไป ประเมินเฉพาะทาง และประเมินโดยกำหนดเป้าหมายร่วม โดย สมศ. จะตรวจเยี่ยมสถานศึกษา 1-3 วัน และจะให้การรับรองสถานศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด และ
2.รับรองมาตรฐานขั้นสูง (Advanced Standard) เพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐาน มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ประกอบด้วยแบบก้าวหน้า ซึ่ง จะมีการประเมินร่วมระหว่างไทยกับสากล หรือการประเมินโดยองค์กรนานาชาติ และแบบ ท้าทาย เพื่อการจัดอันดับในอาเซียน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอันดับโลกให้ได้ระดับที่ดีขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อให้สถานศึกษานำผลการประเมินไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนได้จริง การประเมินรอบ 4 จึงใช้วิธีประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ (Area-Based Assessment: ABA Model) ร่วมกับการประเมินตามกรอบระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สามารถสะท้อนผลการจัดการ ศึกษาของแต่ละพื้นที่สอดคล้องกับบริบท หรือสภาพจริง ที่สำคัญที่สุดคือเกณฑ์ประเมินในรอบนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการประเมิน รูปแบบใหม่ เพราะมีการกระชับตัวบ่งชี้ ลดปริมาณเอกสาร และลดจำนวนวันตรวจเยี่ยม สถานศึกษา เพื่ออำนวยความสะดวกและ ลดภาระครูผู้สอนกลับคืนสู่ห้องเรียน
ที่มา มติชน วันที่ 5 ตุลาคม 2558