"รมว.ศธ." พบปะเขตพื้นที่ฯ อีกรอบ แนะ สพท.ต้องทำความเข้าใจกับชุมชนและผู้ปกครองเด็กเกี่ยวกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ย้ำเรื่องโยกย้ายถ้าพบทุจริตไม่เอาไว้แน่ เปรยรอบหน้าขอพบปะครู
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการรับฟังสรุปผลการสัมมนาการกำหนดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ว่า จากที่ตนได้ฝากให้ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา วิเคราะห์ปัญหาและหาหนทางแก้ไขใน 5 ประเด็น พบว่า ประเด็นแรก เรื่องการแก้ปัญหาในการโยกย้ายครูในเขตพื้นที่ฯ และการจัดซื้อจัดจ้าง มีการเสนอเพิ่มบทลงโทษให้เด็ดขาด หรือแก้กฎระเบียบที่เปิดช่องให้มีการทุจริตนั้น ซึ่งตนเห็นด้วย และเชื่อว่าเรื่องปัญหาการทุจริตมีต้นเหตุมาจาก 2 ส่วน คือ ทุจริตจากตัวบุคคล และทุจริตเพราะสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีวิธีแก้ไขที่ต่างกันออกไป
สำหรับปัญหาการโยกย้ายครู ต้องดูว่าสาเหตุหลักว่ามาจากตัวบุคคลหรือระบบที่หลวม จะต้องแยกประเด็นออกมาให้ชัดเจน ดังนั้นทุกคนต้องใส่ใจและช่วยตรวจตรา ดูแล หากมีการทุจริตเกิดขึ้นขึ้น ตนจะไม่เอาไว้แน่นอน สำหรับประเด็นที่ 2 การขับเคลื่อนนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก็มีการเสนอว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการบูรณาหลักสูตรเนื้อหา เพื่อนำไปสู่การกำหนดเวลาเรียนนั้น ทางคณะทำงานได้ทำเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญคือ การสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ซึ่งเขตพื้นที่ฯ จะต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งชุมชนและผู้ปกครองในพื้นที่
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีการเสนอว่าหากจะให้งานมีประสิทธิภาพต้องมีการคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ความถนัด ความรับผิดชอบต่างๆ ของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งตนมองว่าต้องคำนึงถึงจริง แต่ก็ต้องมีการแบ่งรายละเอียดและประเภทของงานให้ชัดเจน เพื่อที่จะมอบหมายให้ผู้ที่ทำงานเข้าใจในงาน และจะสามารถปฏิบัติงานออกมาได้อย่างดี ประเด็นที่ 4 แนวทางการบริหารงานบุคคลในโรงเรียน มีข้อเสนอให้เกลี่ยอัตราครูและบุคลากรให้มีความเหมาะสม เพิ่มอัตราครูวิชาการ ลดภาระงานของหน่วยงานอื่นๆ ตนได้รับทราบถึงปัญหาและจะดำเนินการศึกษาเพื่อแก้ไขให้เร็วที่สุด หากเรื่องใดที่ศึกษาแล้วพบว่าแก้ไขได้ ไม่มีผลกระทบ ก็จะดำเนินการทันที และสุดท้ายประเด็นที่ 5 แนวทางการประเมินครู สถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่ฯ มีข้อเสนอให้ประเมินตามความสมัครใจ ปรับวิธีการประเมินใหม่ กำหนดปฏิทินการประเมินในแต่ละครั้งอย่างชัดเจน ตนคิดว่าการประเมินเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะผลการประเมินคือสิ่งที่สะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจะต้องมีการปรับวิธีการประเมิน ว่าต้องประเมินอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
"ผมมั่นใจว่าศักยภาพของทุกคนสามารถช่วยขับเคลื่อนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนโยบายต่างๆ ให้สำเร็จได้ และจากการที่ผมได้มาพบปะกับผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ทำให้พบกับเรื่องต่างๆ มากมาย ต่อไปผมอยากมีโอกาสพูดคุยกับครู ที่เป็นครูในพื้นที่จริงๆ และต้องแบ่งตามประเภทของโรงเรียนด้วย เพื่อที่จะทราบปัญหาและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงจุด" รมว.ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 24 กันยายน 2558