สวธ. ประกาศขึ้นทะเบียนปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ปี 58 ใน 7 สาขา 32 รายการ “เลี้ยงควาย อยู่ไฟ กลองยาว โอ่งมังกรราชบุรี ตำนานสงกรานต์” “วีระ” ปลุกปราชญ์เผยแพร่ความรู้หวั่นสูญหาย
วันนี้ (8 ก.ย.) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดพิธีประกาศผลการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2558 พร้อมมอบโล่และเงินรางวัลเชิดชูเกียรติให้ชุมชน หน่วยงาน องค์กรที่เป็นแบบอย่างด้านการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาด้านการพัฒนาศักยภาพบุคคล และด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 18 รางวัล โดย น.ส. นันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ปี 2558 สวธ. ได้พิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ใน 7 สาขา จำนวน 32 รายการ ประกอบด้วย
สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 รายการ ได้แก่
- กลองยาว
- ขับลื้อ
- บานอ
- เพลงปรบไก่
- ละครพันทาง และ
- ฟ้อนเงี้ยว
สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม จำนวน 5 รายการ ได้แก่
- โอ่งมังกรราชบุรี
- เครื่องเงินไทย
- ปราสาทผึ้ง
- งานช่างสนะ และ
- เครื่องบูชาอย่างไทย
สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน จำนวน 5 รายการ ได้แก่
- นิทานพระรถ - เมรี
- นิทานท้าวปาจิตต์ - อรพิมพ์
- ตำนานสงกรานต์
- ตำนานพระธาตุประจำปีเกิด และ
- ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ
สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย จำนวน 4 รายการ ได้แก่
- โคมลอยลอดห่วง
- ชักเย่อเกวียนพระบาท
- ลูกข่าง และ
- ตาเขย่ง หรือตั้งเต
สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล จำนวน 5 รายการ ได้แก่
- ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
- ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกในเทศกาลวันมาฆบูชา จังหวัดยโสธร
- ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน
- สวดโอ้เอ้วิหารราย และ
- เหยา
สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล จำนวน 5 รายการ ได้แก่
- ภูมิปัญญาการทำปลาดุกร้า
- ภูมิปัญญาการอยู่ไฟ
- ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝาย
- ภูมิปัญญาการเลี้ยงควายไทย และ
- ภูมิปัญญาการทำเส้นไหมไทย
สาขาภาษา จำนวน 2 รายการ ได้แก่
- ภาษากูย/กวย และ
- ภาษาพวน
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ และดูแลไม่ให้ภูมิปัญญาต่าง ๆ สูญหายไป ซึ่งตนได้มอบหมายให้ สวธ. ส่งเสริมมรดกทางภูมิปัญญาต่าง ๆ ด้วยการจัดหาเวที เปิดพื้นที่การแสดง โอบอุ้มศิลปิน เพื่อให้มีการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น นอกจากนี้ จะเป็นการปลุกกระแสให้ชุมชน ผู้เป็นเจ้าของภูมิปัญญาได้ตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริง โดยชุมชนปราชญ์ชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญเป็นกลไกสำคัญ ในการให้ข้อมูลองค์ความรู้แก่ นักวิชาการ และผู้สนใจ และผลักดัน เผยแพร่องค์ความรู้สู่เวทีระดับชาติ และนานาชาติ ด้วย
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 กันยายน 2558