สกอ. เร่งจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 เน้น 8 ประเด็น สอดรับการปฎิรูปประเทศ ขณะ"บิ๊กหนุ่ย"จี้หาข้อมูลเป้าหมายให้ชัดเจน และทันสมัย เพื่อแก้ปัญหาของชาติได้อย่างตรงจุด อุดช่องโหว่ และตอบโจทย์ประเทศได้จริง
วันนี้( 28 ส.ค.) ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2574) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) โดยพล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับอุดมศึกษาว่า ต้องผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขหรือข้อมูลพื้นฐานที่ชัดเจนว่ามีความขาดแคลนบัณฑิตหรือต้องการบัณฑิตในสาขาใดบ้าง และไม่ใช่ว่าจะดูแค่ความต้องการของประเทศไทยเท่านั้นต้องดูไปถึงความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย ดังนั้นเราจะต้องเร่งหาข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน เพราะข้อมูลพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญมากที่จะนำไปกำหนดทิศทางในการวางแผนพัฒนาประเทศ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด รวดเร็ว และอุดช่องโหว่ต่างๆได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในการจัดทำแผนอุดมศึกษาฯจะต้องคำนึงด้วยว่าทำแผนออกมาแล้วจะต้องสามารถนำไปปฎิบัติได้จริง จับต้องได้ ที่สำคัญทิศทางของแผนจะต้องตอบโจทย์ของประเทศได้ นอกจากนี้จะต้องดูด้วยว่าจะมีการกำกับติดตามให้มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนดำเนินการตามแผนที่กำหนดได้อย่างไร และสกอ.ต้องมีมาตรการที่จะดำเนินการกับมหาวิทยาลัยที่ไม่ดำเนินการตามแผน ซึ่งตนเรียกว่าการลงดาบ แต่การลงดาบที่ว่าไม่ใช่การลงโทษแต่เป็นมาตรการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆสามารถเดินไปตามกรอบของแผนที่วางไว้ได้ และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายด้วย
รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ขณะนี้สกอ.กำลังจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาอุดมศึกษา เพื่อเป็นแผนชี้นำทิศทางและพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของประเทศให้ดำเนินการตามพันธกิจ อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นกลไกหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รองรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ซึ่งแผนดังกล่าวจะทำให้สามารถคาดการณ์สถานการณ์ในเชิงลึกไปข้างหน้า และมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ด้าน ดร.สุเมธ แย้มนุ่น ประธานคณะอนุกรรมการกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปีฉบับที่3(พ.ศ.2560-2574) และแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่12 (พ.ศ.2560-2564) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอุดมศึกษาจะทำให้การศึกษาในระดับที่ต่ำกว่า ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบต้องเดินตาม ดังนั้นในการกำหนดทิศทางแผนอุดมศึกษาระยะ ยาว 15 ปี จะต้องทำอย่างรอบคอบ
ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า คณะอนุกรรมการกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปีมีการหารือเบื้องต้น โดยมีแนวคิดในการจัดทำแผนอุดมศึกษา ฯ เน้น 8 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1 ต้องกำหนดนิยามอุดมศึกษาใหม่ให้เป็นสมองในการคิดสร้างนวัตกรรม 2 แผนต้องครอบคลุมการพัฒนาการศึกษาทุกสังกัด สร้างความมีส่วนร่วมในสังคม 3 แผนต้องมีวิสัยทัศน์เชิงรุก เน้นยุทธศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ 4 ต้องให้อุดมศึกษามีส่วนช่วยในการออกแบบการศึกษาชาติทุกระดับ 5 ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบอุดมศึกษาทั้งการปรับโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ระบบการจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งทบทวนการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา 6 แผนต้องมีลักษณะที่ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ตลอดเวลา รองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก 7 แผนต้องวางแนวทางการสร้างคน องค์ความรู้ให้แก่ภาคการผลิต สังคม ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุล และ 8 ควรทบทวนสภาพแวดล้อม วิเคราะห์ข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในที่จะส่งผลกระทบต่ออุดมศึกษา มาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผน 15 ปี
"หลายคนคงสงสัยว่าแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปีฉบับที่ 2 (2551-2565) ยังเหลือเวลาอีกหลายปี แล้วทำไมสกอ. จึงเร่งมาทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 ผมชี้แจงว่าขณะนี้เป็นช่วงปฎิรูปประเทศ และมีการเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน ถ้าอุดมศึกษาไม่ปฎิรูปตัวเองตอนนี้อาจจะทำให้ถูกปฎิรูปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีต้องกำหนดแผนและทิศทางการพัฒนาอุดมศึกษาให้ชัดเจนและสอดคล้องกับการปฎิรูปประเทศไทย" ดร.สุเมธ กล่าว
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 สิงหาคม 2558