เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ค ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก เรื่อง เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด ตอนที่ 8 เรื่อง รัฐธรรมนูญใหม่ จะไปหรือจะอยู่ ลองอ่านดูครับ
เข้าห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด
ตอนที่ 8 : รัฐธรรมนูญใหม่ : จะไปหรือจะอยู่
ตอนที่จั่วหัวไว้เหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ไม่หรอกครับ รัฐธรรมนูญต้องเป็นเรื่องของทุกคน แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์หรืออย่างไรไม่ทราบ ทำให้คนไทยกว่าครึ่งประเทศคิดว่ารัฐธรรมนูญไทยเป็นเรื่องของ ส.ส. ส.ว. สปช. สนช. เราไม่เกี่ยว วันที่ 7 กันยายน 2558 นี้ เราก็จะทราบกันแล้วนะครับว่า สปช. จะให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและเสียใจมากที่รับทราบจาก สปช. ผ่านสื่อต่างๆ ว่าการที่ สปช. จะให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญใหม่นี้ ควรผ่านหรือไม่ผ่านนั้น ไม่ได้ดูที่สาระของรัฐธรรมนูญสักเท่าไร กลับกลายเป็นว่า สปช. ที่จะให้ผ่านคือ กลุ่มที่ต้องการให้รัฐบาลนี้ทำตาม Road map ที่กำหนดไว้ และเลือกตั้งเร็วๆ ส่วนกลุ่มที่จะไม่ให้ผ่านคือ กลุ่มที่ต้องการให้รัฐบาลนี้อยู่ปฏิรูปก่อน และเลือกตั้งปี 2560 เป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ น่าจะพูดให้เหตุผลสักหน่อยว่า ถ้าวันที่ 7 กันยายนนี้ รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านแล้วประชาชนจะได้อะไร ไหนเราโจมตีกันนักหนาว่าเกมแบบนี้ คือทำเพื่อตัวเองและพวกพ้องนั้น นักการเมืองชอบทำกัน แล้วทำไมเรามาทำกันเสียเอง
มาดูในสาระรัฐธรรมนูญในส่วนของการศึกษากันดีกว่า
มาตรา 52 พูดถึงสิทธิในการได้รับการศึกษา ว่าต้องเท่าเทียมกัน แต่ไม่พูดถึงโอกาส มีสิทธิแต่ไม่มีโอกาสก็เปล่าประโยชน์ การกล่าวถึงกลุ่มที่รัฐจะส่งเสริมให้จัดการศึกษา ดูเหมือนจะไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม กลุ่มเป้าหมายใช้คำไม่คงเส้นคงวา "คน พลเมือง เยาวชน ประชาชน" พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดกับกลุ่มเป้าหมายดูเหมือนจะขาดไป เพราะมีเพียง "มีศีลธรรม มีการพัฒนาจิตใจ และปัญญา"
เมื่อดูใน มาตรา 286 ซึ่งอยู่ในหมวด 2 ส่วน 2 การปฏิรูปด้านต่างๆ ซึ่งหลักที่ใช้ยึดในการปฏิรูปการศึกษา เขียนไว้หลากหลายมาก ซึ่งจะว่าเป็นหลักการ ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมีทั้งหลักการ วิธีการ ประเด็น ระดับการศึกษา (ซึ่งก็มีไม่ครบทุกระดับ) ตบท้ายด้วยการปรับปรุงประมวลกฎหมายทางการศึกษา ซึ่งแทนที่จะใช้คำใหญ่เป็นภาพรวม กลับระบุกฎหมายรายฉบับเฉพาะเอาไว้ อนาคตกฎหมายที่ระบุไว้อาจไม่จำเป็น
ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่ผมมีความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เขียนได้ไม่คม ไม่ครบ บางส่วนเยิ่นเย้อเกินความจำเป็น รายละเอียดบางส่วนผมเห็นว่าน่าจะยกออกไปไว้ในกฎหมายลูกฉบับต่างๆ ก็ได้ เวลาปรับปรุงแก้ไขประเด็นต่างๆจะได้ง่ายๆ หน่อย ผมไม่ค่อยเชื่อนะว่า ปรมาจารย์ยกร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ตระหนักเรื่องที่ผมกล่าวมานี้ พวกท่านมีเจตนาอะไรซ้อนเร้นหรือเปล่า ระยะหลังๆ ชักเริ่มเชื่อคำพูดที่ว่า "สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ สิ่งที่ใช่อาจจะไม่เห็น"เสียแล้ว
ขอบคุณที่มา เฟซบุ๊ค ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก วันที่ 10 สิงหาคม 2558