เล็งตั้งหน่วยงานกลางดูแลเด็กหัวกะทิ
สกศ.วางยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เล็งตั้งหน่วยงานกลางเชื่อมโยงข้อมูลกับ สพฐ. หวังผลิตเด็กเก่งรับใช้ประเทศ
วันนี้(28 ก.ค.)ดร.พิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)เปิดเผยว่า จากการประชุมร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ พ.ศ.2560-2564 ที่ประชุมได้วางแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ 6 ด้าน ดังนี้
1. พัฒนากลไกและระบบงานการบริหารจัดการ
2.การพัฒนาระบบการศึกษา
3.การผลิตและพัฒนาบุคลากร
4. การสร้างและการถ่ายทอดองค์ความรู้
5. การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษระดับสูง และ
6. การสร้างความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ให้แก่ประเทศ
ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะส่งผลให้เด็กที่มีทักษะความเป็นเลิศสามารถนำประเทศไทยไปสู่สังคมโลกอย่างมั่นคง เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าระบบการศึกษาไทย ยังไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้มีความสามารถพิเศษได้เท่าที่ควร เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษที่มีอยู่ได้หายไปจากระบบ ขณะที่ประเทศอื่นให้ความสำคัญเด็กที่มีความสามารถพิเศษกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก "สกศ.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางระบบการค้นหาและพัฒนาผู้ที่มีความสามารถพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการด่วน และจะมีการนำร่องจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ พร้อมทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และนำไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น อาจจัดตั้งหน่วยงานกลางที่สร้างระบบกลไกการบริหารจัดการที่สามารถประสานเชื่องโยงเครือข่ายหน่วยงานการศึกษาให้ไปในทิศทางเดียวกัน”รองเลขาธิการ สกศ.กล่าว
ด้าน ศ.ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้นหากได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้ถูกทิศทางจะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ควรพัฒนาตามอัธยาศัยและความสามารถของเด็ก ไม่ควรเน้นพัฒนาเฉพาะแค่ด้านคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะประเทศไทยยังต้องการเด็กที่มีความสามารถพิเศษในด้านอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักดนตรี นักกีฬา เป็นต้น ดังนั้นควรจะมีหน่วยงานกลางสำหรับพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษทั้งระบบ ที่มีการประสานเขื่อมโยงกับการจัดระบบการศึกษาให้เหมาะสม
อ่านต่อที่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 กรกฎาคม 2558